“สื่อ” สร้างเสริมพฤฒพลังให้แก่ผู้สูงอายุ

“สังคมผู้สูงอายุ” เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสนใจและต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันภาพรวมประชากรโลกเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และเมื่อมองลงไประดับทวีปจะพบว่า เกือบทุกทวีปก็กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ยกเว้นทวีปแอฟริกา1 ในขณะที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และปัจจุบันได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ จะนำมาซึ่งปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาวัยแรงงานน้อยลง ส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น ค่าครองแรงสูงขึ้น2 ปัญหาความเครียดจากการแบกรับภาระผู้สูงอายุของวัยแรงงานในครอบครัว ตลอดจนปัญหาความซึมเศร้า รู้สึกน้อยใจ รู้สึกเป็นภาระลูกหลานของตัวผู้สูงอายุเอง จนนำไปสู่การมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งส่งผลต่อเงินออมที่ตั้งใจเก็บไว้ใช้ตอนวัยสูงอายุจะไม่เพียงพอ3

 

“พฤฒพลัง” คืออะไร ?

องค์การอนามัยโลกได้เสนอแนวคิด “Active Ageing”4 โดยเป็นกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพื่อนำพาผู้สูงอายุไปสู่การมีสุขภาพที่ดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน และมีหลักประกันที่มั่นคง โดยใช้เป็นแนวทางเพื่อให้แต่ละประเทศได้นำไปปรับใช้ในการรับมือกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของ

ผู้สูงอายุ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุต่อไป โดยภาวะ “พฤฒพลัง” ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่

1) สุขภาพ ซึ่งหมายรวมถึง ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยการที่จะมีภาวะสุขภาพที่ดี จึงไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย นอนหลับอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการไม่มีความเครียด ความกังวล การป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค และเข้าถึงบริการสุขภาพของภาครัฐ

2) การมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ได้พบปะเพื่อนผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมที่ชุมชนจัดขึ้น อันจะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายสังคม เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ได้ทำคุณประโยชน์แก่ส่วนรวม และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

3) ความมั่นคง หมายถึง การจัดเตรียมหลักประกันที่มั่นคงปลอดภัย มาตรการดูแลของสังคม นโยบายการดูแลสุขภาพและสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งจะคอยรองรับผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยหรืออยู่ในภาวะเปราะบาง เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูตนเองให้สามารถกลับมาแข็งแรงได้โดยเร็ว

 

 

ประโยชน์ของภาวะพฤฒพลัง

จะเห็นได้ว่า “ภาวะพฤฒพลัง” เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้กลายเป็นผู้ที่มีคุณค่า กระฉับกระเฉง ใช้ชีวิตในช่วงเกษียณได้อย่างมีความสุข ซึ่งการส่งเสริมภาวะพฤฒพลังให้แก่ผู้สูงอายุจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้5

  • ประโยชน์ต่อตัวผู้สูงอายุ โดยเมื่อผู้สูงอายุเกิดภาวะพฤฒพลัง จะทำให้มีภาวะสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ไม่ต้องพึ่งพาผู้ดูแล สามารถใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน ลดการแยกตัวออกจากสังคม ทั้งยังช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอีกด้วย
  • ประโยชน์ต่อชุมชน โดยจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุต่อกิจกรรมของชุมชน มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางของชุมชนร่วมกันในการจัดกิจกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ต่อคนทุกวัย ผู้คนเกิดทัศนคติต่อผู้สูงอายุ จริงใจ ดูแลซึ่งกันและกัน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน
  • ประโยชน์ต่อประเทศชาติ จากการที่ผู้สูงอายุมีภาวะสุขภาพร่างกายแข็งแรง ทำให้ประเทศมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ชุมชนเข้มแข็ง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมา ตลอดจนอัตราการเข้ารับการบริการด้านสุขภาพ อัตราการเจ็บป่วย และอัตราการพึ่งพิงที่น้อยลง

 

“สื่อ” สร้างเสริม “พฤฒพลัง” ให้แก่ผู้สูงอายุ

ในยุคปัจจุบันที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันและกันผ่านอุปกรณ์สื่อสาร โดยข้อมูลเมื่อปี 25656 พบว่า ผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวน 13.1 ล้านคน ใช้อินเทอร์เน็ต 6.9 ล้านคน (ร้อยละ 52.4) ใช้โทรศัพท์มือถือ 10.8 ล้านคน (ร้อยละ 82.5) และมีโทรศัพท์มือถือ 9.4 ล้านคน (ร้อยละ 72.2) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่มีโทรศัพท์ใช้ และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ประกอบกับผลสำรวจสถานการณ์การใช้สื่อ ผลกระทบจากการเปิดรับสื่อ พฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทยในปี 25667 จะพบว่า ผู้สูงอายุเปิดรับข้อมูลทั่วไป และใช้ไลน์มากที่สุด นอกจากนี้ยังเปิดรับข้อมูลด้านสุขภาพ บันเทิง ศาสนา อาหาร และการเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากหากผู้สูงอายุและคนทั่วไป เปิดรับสื่อที่เสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังให้กับตนเอง เพื่อให้เมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุยังคงมีภาวะสุขภาพแข็งแรง กระฉับกระเฉง เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน และไม่มีภาวะเจ็บป่วยใด ๆ ซึ่งผู้เขียนจะขอแนะนำวิธีการใช้ “สื่อเพื่อสร้างเสริมพฤฒพลังให้แก่ผู้สูงอายุ” โดยเฉพาะสื่อใหม่ อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างมีไว้ครอบครอง และเป็นแนวทางที่คนทุกวัยสามารถนำเอาปรับใช้ได้ ดังนี้

 

“สื่อ” สร้างเสริม “สุขภาพ” ที่แข็งแรง

ในปัจจุบันหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ผู้คนเริ่มใส่ใจกับระบบสุขภาพในเชิงป้องกันมากขึ้น โดยเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและอาหารที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพ8 นำมาสู่การคิดค้นนวัตกรรมเชิงการแพทย์ในรูปแบบแอปพลิเคชันตรวจจับพฤติกรรมทางกายบนสื่อใหม่ อย่างโทรศัพท์มือถือและนาฬิกาดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งจะที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนมีหมอคอยติดตามพฤติกรรมการดำเนินชีวิตอยู่ตลอดเวลา โดยระบบจะคอยแจ้งเตือนให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวร่างกาย หากหยุดนิ่งอยู่กับที่มากเกินไป ทั้งนี้ ยังมีการตรวจจับพฤติกรรมการนอนหลับ สัญญาณชีพจร ไปจนถึงระดับออกซิเจนในเลือดของผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย และห่างไกลจากโรคภัย และเป็นชุดข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวินิฉัยและตรวจโรคของแพทย์

 

“สื่อ” สร้างเสริม “การเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน”

เมื่อผู้สูงอายุต้องเกษียณหรือหยุดทำงาน เนื่องจากอายุที่มีมากขึ้น ทำให้ต้องหยุดทำงาน และพักผ่อนอยู่บ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวรู้สึกว่าตนเองว่าง จนอาจนำไปสู่ความเบื่อหน่ายระหว่างวัน ความรู้สึกไร้ค่า ความรู้สึกไม่มีตัวตนในครอบครัว หรือขั้นร้ายแรงจนถึงการมีภาวะซึมเศร้า จึงควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุพบปะผู้คน ได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ออกไปข้างนอกบ้าน9 ผ่านการสร้างชุมชนออนไลน์บนสื่อโทรศัพท์ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้พูดคุยกันกับเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกันเอง คอยเชิญชวนกันทำบุญ คอยนัดหมายเข้าร่วมกิจกรรม หรือคอยส่งต่อข่าวสารต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันข่าวสาร ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่ความสนิทสนม ไม่เขินอายที่จะเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน เกิดการพัฒนาจิตใจ และใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างสนุกสนานและมีความสุข

 

“สื่อ” สร้างเสริม “ความมั่นคงและหลักประกัน”

หลักประกันความมั่นคงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและไม่ควรมองข้าม เนื่องจากจะคอยเป็นเบาะรองรับผู้สูงอายุเมื่อเจ็บป่วยหรืออยู่ในภาวะเปราะบาง ซึ่งควรสร้างเสริมไว้แต่เนิ่น ๆ แต่เนื่องจากอาจจะยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการเตรียมการที่มากพอ ดังนั้น จึงควรเปิดรับข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อโทรศัพท์ ตลอดจนสื่อบุคคลผู้ซึ่งมีการเตรียมการไว้อย่างดี เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างเสริมความมั่นคงและหลักประกันเมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุ เช่น การเก็บออมเงินไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน การปรับปรุงและจัดที่อยู่อาศัยให้มีการออกแบบอารยะสถาปัตยกรรม (Universal Design) การจัดหาผู้ดูแลและสิ่งรองรับผู้สูงอายุ การเปิดรับสื่อเกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต การติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิ สวัสดิการ และกองทุนที่ผู้สูงอายุพึงได้ ฯลฯ

จะเห็นได้ว่านอกจากประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารแล้ว สื่อยังมีประโยชน์อีกต่างๆ มากมาย ขึ้นอยู่กับเราที่จะเลือกปรับใช้ โดยการเลือกนำสื่อมาปรับใช้ในการสร้างเสริมพฤฒพลังให้แก่ผู้สูงอายุนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้สูงอายุเอง ทำให้มีสุขภาวะที่แข็งแรง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ไม่เกิดโรค  นำไปสู่การพบปะ พูดคุย เข้าร่วมกิจกรรม และสร้างเครือข่ายทางสังคมของผู้สูงอายุในชุมชน แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลักประกันที่มั่นคงและปลอดภัยด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในช่วงเกษียณอย่างมีคุณภาพ ผู้คนเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ไม่มีปัญหาทางสังคมในชุมชน อันจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งต่อไป

เขียนโดย
นายอิศรา หงษาวัน
นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รายการอ้างอิง

  1. กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2566). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2565. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์ คอร์เปเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน).
  2. Money Duck. (2563). สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://moneyduck.com/th/articles/535-สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย
  3. อดิศักดิ์ จำปาทอง. (2567). แนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในจังหวัดลำปาง. วารสารนิเทศศาสตร์ธุรกิจบัณฑิตย์. 15(2), 235-267.
  4. World Health Organization (WHO). (2545). Active Ageing A Policy Framework. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2567 จากhttps://extranet.who.int/agefriendlyworld/wp-content/uploads/2014/06/WHO-Active-Ageing-Framework.pdf
  5. ปวีณา เพิ่มพูน. (2563). การพัฒนาภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุด้วยกาปรึกษากลุ่มเชิงบูรณาการ โดยใช้ทฤษฎีอัตถิภาวะนิยมเป็นฐาน. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://buuir.buu.ac.th/bitstream/1234567890/9216/1/ 57810146.pdf
  6. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2565). สรุปผลที่สำคัญ การมีการใช้ไอซีทีของผู้สูงอายุ พ.ศ.2565. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20230929102632_92912.pdf
  7. นันทิยา ดวงภุมเมศ ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ธีรพงษ์ บุญรักษา ณรงเดช พันธะพุมมี และวราภรณ์ สืบวงศ์สุวรรณ. (2566). รายงานผลสํารวจสถานการณ์การใช้สื่อ ผลกระทบจากการเปิดรับสื่อ พฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ. 2566. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2567 จาก https://www.iceml.org/Doc/ResearchReport-2024-Media-Usage.pdf
  8. โพสต์ ทูเดย์. (2565). เผยผลสำรวจใหม่ ‘คนไทย’ ใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2567 จาก https://www.posttoday.com/lifestyle/687851
  9. กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2564). กิจกรรมผู้สูงอายุ แนวทางในการสร้างสุขเพื่อสุขภาพจิตที่ดีในวัยเกษียณ. สืบค้นเมื่อ 13 มิถุนายน 2567 จาก https://www.dop.go.th/th/know/15/496
Scroll to Top