โต๊ะมหัศจรรย์ (Tovertafel) เกมสื่อปฏิสัมพันธ์เชิงโต้ตอบ (Interactive game)

จากเนเธอร์แลนด์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันหลายประเทศบนโลกเป็นสังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงทวีปยุโรปที่เป็นกลุ่มต้น ๆ ในบรรดาประเทศ G20 ที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด เมื่อต้นปี ค.ศ.2023 มีผลสำรวจจากองค์กร Eurostatพบว่าประชากรผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 65 ปี) มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 5 ของประชากรยุโรปทั้งหมด คิดเป็น 21.3% ของประชากร 448,800,000 คน  และภายใน ค.ศ.2050 ในยุโรปจะมีผู้สูงอายุที่อายุ 100 ปีขึ้นไปราว500,000 คน และกลุ่มประชากรอายุ 65-74 ปี มีแนวโน้มจำนวนสูงขึ้น 16.6% ในขณะที่กลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี จะมีจำนวนเพียง 13.5% โดยประมาณ1 

หนึ่งในภาวะที่พบมากที่สุดในผู้สูงอายุคือ ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) เป็นภาวะที่ส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เพราะสมองทำงานได้แย่ลง เช่น อาการหลงลืมง่าย หลงทางในที่คุ้นเคย ทำอะไรซ้ำไปมา บุคลิกเปลี่ยน เริ่มเสียทักษะที่เคยทำได้ ภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุทั้งจากโรคที่รักษาหายขาด เช่น โรคต่อมไทรอยด์ น้ำคั่งในสมอง โรคซึมเศร้า และโรคที่รักษาไม่หายขาด เช่น  โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และโรคหลอดเลือดสมองตีบ (Vascular dementia) ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมจึงมักมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แย่ลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม (Apathy)

ไม่ใช่แค่คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ แต่ยังเป็นคุณภาพชีวิตของผู้ดูแล

ผู้สูงอายุเป็นวัยพึ่งพิงที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล เพราะมีสภาวะความเสื่อมถอยทางด้านร่างกาย แต่ในปัจจุบันที่สังคมส่วนมากมีจำนวนคนในวัยทำงาน วัยเด็กและวัยหนุ่มสาวเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศ แน่นอนว่าภาระหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุตกอยู่กับกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 55 ปี ซึ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาพบว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เป็นสภาวะที่น่าเป็นห่วง2 วัจนา ลีละพัฒนะ และสายพิณ หัตถีรัตน์ ประจำภาคเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า เกิดภาวะหมดไฟของผู้ดูแล (Caregiver burnout) ได้บ่อย เพราะการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังเป็นงานที่ยาก เหน็ดเหนื่อยและก่อให้เกิดความตึงเครียดสูง มีความยากมากกว่าการรักษาเป็นครั้งคราวของแพทย์ รวมทั้งในสังคมไทยยังมีแนวคิดเรื่องความกตัญญูมาสร้างความกดดัน3 

การนำเกมมาใช้อย่างสร้างสรรค์

ในต่างประเทศ พบว่าเกมประเภทฝึกสมองประลองเชาว์ เช่น ปริศนาอักษรไขว้ เป็นเกมที่ได้รับความนิยม และพบว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม4,5 แต่ในปัจจุบันที่จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปและมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลมากขึ้นจากโรคแทรกซ้อนเรื้อรังอื่น ๆ เกมประเภทสื่อปฏิสัมพันธ์เชิงโต้ตอบ (Interactive game) จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อความสะดวกและช่วยพัฒนาหลายทักษะไปพร้อมกัน

ภาพ : https://agedcareaustraliamedia.com.au/leef-improving-dementia-support

เกมโต๊ะมหัศจรรย์ นวัตกรรมเทคโนโลยีสื่อจากเนเธอร์แลนด์

ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีการพัฒนาเกมมัลติมีเดียประเภทสื่อปฏิสัมพันธ์เชิงโต้ตอบมาช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยสมองเสื่อม ในชื่อเกมว่า “โต๊ะมหัศจรรย์” (Tovertafel ในภาษาดัทช์)6 เกมนี้พัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเฮสเตอร์ แอนเดอรีเซน เลอริช (Hester Anderiesen Le Riche) ประธานฝ่ายบริหารของบริษัท Tover ขณะทำการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุสภาวะสมองเสื่อมในปี ค.ศ.2017 เลอริชได้พัฒนาเกมและทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยประจำเมืองเดลฟ์และมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมมาอย่างต่อเนื่อง7 จนในปัจจุบันเกมโต๊ะมหัศจรรย์ได้พัฒนามาเป็นรุ่นที่สอง โดยเครื่องเล่นเกมโต๊ะมหัศจรรย์มีลักษณะเป็นกล่องเหล็กขนาดใหญ่คล้าย CPU ของคอมพิวเตอร์ให้ติดตั้งบนเพดานห้อง ภายในจะมีช่องแสงคล้ายกับโปรเจคเตอร์ฉายภาพยนตร์ เมื่อลงทะเบียนผ่านระบบ OpenPlay และชำระค่าสมาชิกรายเดือนแล้ว จะสามารถเลือกเล่นเกมในแค็ตตาล็อกผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ภาพกราฟิกในเกมจะเป็นวิดีโอฉายลงบนพื้นผิวเรียบของโต๊ะหรือพื้น เมื่อผู้เล่นขยับร่างกาย เซ็นเซอร์ของเครื่องก็จะตอบสนองกับเกม8  โดยในแค็ตตาล็อกของ Tover จะมีการจัดอันดับความยากง่ายของเกมและประเภททักษะที่จะได้จากการเล่นเกม ทำให้ผู้ดูแลสามารถเลือกได้สะดวกตามสภาพร่างกายของผู้สูงอายุและคำแนะนำของแพทย์9 

ภาพ : https://www.npex.nl/en/effectenbeurs/tover

ตัวอย่างเกมที่มีในโต๊ะมหัศจรรย์เช่น เกม “ขัดเครื่องเงิน” (Silverware) ที่จะฝึกกล้ามเนื้อและเสริมทักษะเข้าสังคมโดยให้ผู้สูงอายุขัดช้อนส้อมและมีดรับประทานอาหารจากในเกม เกมสวนครัว (Kitchen Garden) ที่ให้หว่านเมล็ดพืช รดน้ำ พรวนดิน คอยดูแลต้นไม้ให้งอกงาม เป็นการฝึกทักษะประสาทสัมผัสและทักษะสังคม หรือ เกมจับผิดภาพเขียน (Art Inspector) ที่จะฝึกเชาว์และทักษะสังคมในการจับผิดภาพ เป็นต้น 

https://www.mayflower.org.au/news/latest-stories/interactive-tovertafel-a-hit-at-mayflower-reservoir

เกมโต๊ะมหัศจรรย์ได้รับความนิยมในโรงพยาบาลและบ้านพักคนชราในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา10,11  ทัลแมนน์ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมในบ้านพักคนชราที่เล่นเกมโต๊ะมหัศจรรย์โดยการสัมภาษณ์ พบว่าผู้ป่วยทุกคนมีความพึงพอใจในการเล่นเกมดังกล่าว เพราะเกมมีความสนุก ทำให้ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ได้ออกกำลังกาย และเกมไม่ยากจนเกินไป ไม่ทำให้เกิดความเครียด มีระดับให้เลือกความยากและมีความหลากหลายทำให้เล่นได้ไม่เบื่อ ผู้ดูแลยังให้สัมภาษณ์ว่าผู้ป่วยโดยรวมมีความสุขและมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เกมยังสามารถนำไปใช้เล่นกับผู้ป่วยที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่องได้อีกด้วย12

ภาพ : https://www.caretalk.co.uk/news/new-care-commits-to-dutch-magic-table-technology

ภาพ : https://www.ed.nl/meierijstad/keezen-voor-tovertafel-bij-st-barbara-in-wijbosch~a8039a4a/100547619

ราคาสูงที่อาจเป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม เกมโต๊ะมหัศจรรย์เป็นนวัตกรรมที่มีราคาสูง มีลิขสิทธิ์และต้องติดต่อสอบถามราคาจากบริษัทโดยตรงหรือตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น ในปี ค.ศ.2018 พบว่ามีราคาต่อเครื่องราว 7,000 ปอนด์ หรือประมาณ 236,000 บาท ส่วนในฝรั่งเศสปัจจุบันพบว่ามีราคาราว 8,800 ยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 346,000 บาท ซึ่งแม้แต่บ้านพักคนชราของรัฐและเอกชนในยุโรปก็ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะซื้อเครื่องเล่นเกมให้เพียงพอต่อความต้องการ

การประยุกต์ใช้ในบริบทของไทย

ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยที่มีผู้สูงอายุเป็นประชากรส่วนใหญ่อาจประสบปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ที่เพียงพอในการจัดซื้อนวัตกรรมจากต่างประเทศอย่างเกมโต๊ะมหัศจรรย์ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์การดูแลสุขภาพอย่าง Healthline.com ได้แนะนำทางเลือกที่เป็นไปได้และใกล้ตัวในการป้องกัน ลดความเสี่ยงและรับมือกับสภาวะสมองเสื่อมโดยการให้ทำกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ๆ เช่น การอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ยูทูบ ชมภาพยนตร์ รวมทั้งแนะนำให้เล่นเกมสัปดาห์ละครั้ง เพราะการวิจัยพบว่าสามารถลดความเสี่ยงได้อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งเกมดั้งเดิมอย่างปริศนาอักษรไขว้ เกมไพ่ เกมกระดาน หมากแบ็กแกมมอน หมากรุก ต่อจิ๊กซอว์ หรือเกมแอปพลิเคชันที่เล่นผ่านแท็บเล็ตหรือเครื่องเล่นอื่น ๆ เช่น เกมเททริส  แคนดี้ครัช แอนิมอล ครอสซิ่ง13 ซึ่งคำแนะนำของเว็บไซต์ตรงกับงานวิจัยของอูร์ไวเลอร์และคณะที่พบว่าการเล่นเกมประเภทฝึกเชาว์ในแท็บเล็ตสามารถฝึกสมองได้14 ดังนั้นจากกรณีศึกษาเกมโต๊ะมหัศจรรย์พบว่าในบริบทที่มีความแตกต่างด้านเงินทุน ประเทศไทยสามารถประยุกต์ใช้การเล่นเกมหรือคิดกิจกรรมต่าง ๆ ในการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยใช้เวลาอย่างเป็นประโยชน์ทั้งในแบบเกมดั้งเดิม การเสพสื่อบันเทิงโทรทัศน์และเว็บไซต์ และการเล่นโดยใช้อุปกรณ์แท็บเล็ต

เขียนโดย         รุจีลักษณ์ สีลาเขต (นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยซอร์บอน)

รายการอ้างอิง

  1. Eurostat. (2023). Ageing Europe – Statistics on population developments. Retrieved 22 June 2024 from https://ec.europa.eu/eurostat/statistics-explained/index.php?title=Ageing_Europe_-_statistics_on_population_developments#:~:text=The%20EU%2D27%20had%20the,(9.3%20%25%20in%202015)
  2. Dutt D. (1998). Care for the growing number of elderly people in developing countries needs to be addressed. BMJ, 316(7141), 1387–1388. Retrieved 22 June 2024 from https://doi.org/10.1136/bmj.316.7141.1387a
  3. วัจนา ลีละพัฒนะ, สายพิณ หัตถีรัตน์ (ม.ป.ป.). เมื่อผู้ดูแลทำไม่ไหวแล้ว (Working with Caregiver Burnout). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/fammed/th/postgrad/article_4
  4. Givon Schaham, N., Buckman, Z., & Rand, D. (2022). The effect of daily practice of puzzle-game apps on cognition in two groups of older adults: A pre-post experimental study. International Journal of Environmental Research and Public Health, 19(23), 15454. Retrieved 22 June 2024 from https://doi.org/10.3390/ijerph192315454
  5. Pillai J. A., Hall C. B., Dickson D. W., Buschke, H., & Lipton, R. B. (2011) Association of crossword puzzle participation with memory decline in persons who develop dementia. J Int Neuropsychol Soc 17(6), 1006-1013. Retrieved 22 June 2024 from https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22040899
  6. Steiner, V., Perion, J., Hartzog, M., Ibrahim, S., Lopez, A., Martinez, B., Saltzman, B., & Kinney, J. (2023). Initial findings on the benefits of the Tovertafel: Reducing behaviors in persons with dementia. Innovation in Aging, 7(Suppl 1), 822–823. Retrieved 22 June 2024 from https://doi.org/10.1093/geroni/igad104.2653
  7. (2020). Have a proven impact together. Retrieved 22 June 2024 from https://www.tover.care/research
  8. The Alzheimer’s & Dementia Show. (2018). Tovertafel – The magic table for people with dementia. Retrieved 22 June 2024 from https://alzheimersshow.co.uk/news-blogs/tovertafel-magic-table-people-dementia
  9. (2020). Games for seniors: The effect of playing for seniors living with dementia. Retrieved 22 June 2024 from https://www.tover.care/games-for-seniors
  10. De Castella, T. (2018). Hospital introduces ‘magic tables’ to stimulate dementia patients. Retrieved 22 June 2024 from https://www.nursingtimes.net/news/technology/hospital-introduces-magic-tables-to-stimulate-dementia-patients-14-09-2018/
  11. Missud M. (2024). Tables magiques et vélos interactifs ou casques virtuels, la technologie s’invite de plus en plus dans les Ehpad.Retrieved 22 June 2024 from https://france3-regions.francetvinfo.fr/nouvelle-aquitaine/vienne/chatellerault/tables-magiques-velos-interactifs-ou-casques-virtuels-la-technologie-s-invite-de-plus-en-plus-dans-les-ehpad-2899142.html
  12. Talman, L. (2022) Tovertafel adult: The influence of the Tovertafel for adults (UP) on social interaction for adults with autism and intellectual disability. Academy of Health Care and Welfare. Retrieved 22 June 2024 from https://www.diva-portal.org/smash/get/diva2:1724238/FULLTEXT01.pdf
  13. Pietrangelo, A. Best brain stimulating games for dementia and why they work. Retrieved 22 June 2024 from https://www.healthline.com/health/alzheimers-dementia/memory-games-for-dementia#how-games-help
  14. Urwyler, P., Gupta, R. K., Falkner, M., Niklaus, J., Müri, R. M., & Nef, T. (2023). Tablet-based puzzle game intervention for cognitive function and well-being in healthy adults: Pilot feasibility randomized controlled trial. JMIR aging, 6, e46177. Retrieved 22 June 2024 from https://doi.org/10.2196/46177
Scroll to Top