สวัสดีวันจันทร์แบบใหม่ ส่งความคิดถึงและส่งต่อความปลอดภัยในการใช้สื่อ

“สวัสดีวันจันทร์” คืออะไร….

การส่งรูปดอกไม้ วิวธรรมชาติ สถานที่สวย ๆ พร้อมข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” ในตอนเช้า ๆ ของผู้สูงอายุถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนคุ้นชิน และวัฒนธรรมที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในกลุ่มผู้สูงอายุที่ใช้สื่อ โดยทุก ๆ เช้า เมื่อผู้สูงอายุตื่นมา สิ่งแรก ๆ ที่จะทำ คือ การนั่งไล่อ่านข้อความในไลน์จากลูกหลาน คนในครอบครัว และเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกันเอง เพื่อให้ทราบว่าแต่ละวันมีใครส่งข้อความ คำคม ข่าวสารอะไรให้บ้าง ก่อนที่จะกดเลือกรูปดอกไม้ หรือวิวธรรมชาติสวย ๆ พร้อมด้วยข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” แล้วส่งไปหาคนที่ห่วงใย

 “สวัสดีวันจันทร์” หมายความว่าอะไร

จากผลการวิเคราะห์เนื้อหาข้อความและความต้องการข่าวสารผ่านไลน์ของผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย1 พบว่า พฤติกรรมการส่งรูปภาพ “สวัสดีวันจันทร์” ของผู้สูงอายุ ล้วนแฝงด้วยความหมายหรือคุณค่าที่ลึกซึ้งของผู้สูงอายุที่มีต่อผู้ที่ส่งข้อความให้ เช่น ความรู้สึกคิดถึง การระลึกถึงกัน ที่มาจากการอยู่ห่างไกลกัน ความปรารถนาดีและความหวังดีที่ผู้สูงอายุมีต่อผู้ที่ส่งข้อความให้ ความต้องการที่ทันยุคสมัยและไม่ตกกระแสสังคม การทำบุญในรูปแบบการส่งต่อหลักคำสอนหรือหลักธรรม เพื่อหวังที่จะให้ผู้รับข้อความได้นำหลักคำสอนทางศาสนาไปปฏิบัติใช้การดำเนินชีวิต การเรียน การทำงาน นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าการที่ผู้สูงอายุส่งข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” ในทุก ๆ เช้านั้น แปลว่า ผู้สูงอายุยังมีโอกาสได้ตื่นขึ้นมา ยังคงมีชีวิตอยู่ การส่งรูปภาพสวัสดีวันจันทร์ยังเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกันของผู้สูงอายุ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุคลายความเหงา2

 ส่งต่อความความห่วงใยและความปลอดภัย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันนี้ การหลอกลวงจากสื่ออนไลน์มีแนวโน้นสูงขึ้นอย่างน่ากังวล โดยเฉพาะตัวผู้สูงอายุเอง เนื่องจากมี “ความพร้อม” ด้านการเงิน เวลา และจิตใจ ที่อยากจะช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก และไม่คิดว่าจะมีคนมาหลอก ทำให้เห็นข่าวผู้สูงอายูสูงถูกหลอกลวงจากสื่อออนไลน์อยู่เป็นประจำและมีความถี่ขึ้นในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์การใช้สื่อและผลกระทบจากการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย ของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEML) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่า มีผู้สูงอายุตระหนักว่าตนเองเคยพลาดพลั้งหรือตกเป็นเหยื่อจากการไม่รู้เท่าทันสื่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 16 (ปี 2564) เป็นร้อยละ 22 (ปี 2565) และร้อยละ 22.40 (ปี 2566) 3  

ดังนั้น เพื่อให้การส่งข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” ของผู้สูงอายุเกิดประโยชน์ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเตือนกันระหว่างผู้สูงอายุ และคนที่ผู้สูงอายุห่วงใย ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอ วิธีการส่งต่อ “สวัสดีวันจันทร์” โดยนำโมเดลการรู้เท่าทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ”4  มาใช้ เพื่อให้คนที่รับข้อความมีเครื่องมือในการใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นคำสั้น ๆ ง่าย ๆ สามารถจดจำได้ ซึ่งนอกจากจะส่งความห่วงใยแล้ว ยังส่งความปลอดภัยไปยังคนที่ผู้สูงอายุห่วงใยอีกด้วย

 สวัสดีวันจันทร์ “หยุด” ยับยั้งตั้งสติ

เริ่มต้นวันจันทร์ซึ่งเป็นวันแรกของสัปดาห์ในการทำงาน และการเริ่มต้นอะไรใหม่ ๆ ซึ่งผู้สูงอายุหรือคนทั่วไปจะต้องเจอสิ่งต่าง ๆ ที่จะเข้ามา ทั้งในโลกชีวิตจริง โลกออนไลน์ และในสื่อต่าง ๆ ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอยู่ ดังนั้น เราจึงควร “หยุด” เสียก่อน เพื่อตั้งสติ โดยที่ไม่ด่วนเชื่ออะไรง่าย ๆ ซึ่งการส่งวลีสั้น ๆ คล้องจอง จะทำให้ผู้รับข้อความสามารถจดจำได้ ว่าต้องมีสติต่อสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเข้าหาตัวเรา ซึ่งทำให้ข้อความ “สวัสดีวันจันทร์” ของผู้สูงอายุมีประโยชน์ ผู้รับข้อความ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้

สวัสดีวันอังคาร “คิด” จำเป็นหรือไม่

เริ่มต้นเช้าวันอังคาร วันที่สองของสัปดาห์ กับการ “คิด” ใคร่ครวญในสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามา โดยเฉพาะการเสนอขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ว่าจำเป็นกับตัวผู้สูงอายุหรือไม่ “รองเท้าที่ใส่อยู่ยังไม่ชำรุด” “เสื้อผ้าในตู้ก็ยังใส่ไม่หมดเลย” “ยาบำรุงต่าง ๆ กินแล้วจะหายจริงหรือ” เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วผู้คนจะคล้อยตามเทคนิคการขาย ทำให้เสียเงินกับสิ่งของที่ยังไม่จำเป็น หรือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งการ “คิด” ถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเคยทำมาก่อนอยู่แล้ว แต่การที่ผู้สูงอายุได้ส่งข้อความไป เป็นเหมือนการย้ำเตือนว่าเมื่อได้รับข้อมูลอะไรที่กระตุ้น “ความอยาก” ก็อย่าด่วนคล้อยตาม แต่ให้ใช้เวลาคิดใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน

สวัสดีวันพุธ “ถาม” หาข้อมูลเพิ่มเติม

เช้าวันพุธ กลางสัปดาห์การทำงาน ท่ามกลางความหลากหลายของข้อมูลที่สื่อต่างกระหน่ำป้อนให้เพื่อเราหลงเชื่อ คล้อยตาม หรือปฏิบัติตามนั้น ซึ่งเราจะพบเจอได้ตามการโฆษณา เราจึงควร “ถาม” หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจใด ๆ ซึ่งการถามเป็นการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากคนใกล้ตัว คนในครอบครัว เพื่อน ผู้มีประสบการณ์ ผู้ที่รู้ หรือสืบค้นจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่ เช่น กูเกิ้ล เว็บไซต์ขององค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อให้ได้รู้ข้อมูลอย่างรอบด้านมาประกอบการตัดสินใจ โดยการที่ผู้สูงอายุได้ส่งข้อความไป จะทำให้ผู้รับได้ฉุกคิด ได้หาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่จะเลือกปฏิบัติตามที่สื่อบอกมา

สวัสดีวันพฤหัสบดี “ทำ” อย่างรู้เท่าทันและรับผิดชอบ

เช้าวันพฤหัสบดีกับการผ่านพ้นครึ่งสัปดาห์ของการทำงานและเตรียมนับถอยหลังสู่วันหยุด จากการข้อมูลที่สื่อป้อนให้เรา แต่เมื่อเราผ่านกระบวนการ “หยุด” ยับยั้งตั้งสติ “คิด” จำเป็นหรือไม่ “ถาม” หาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว จะนำมาสู่การตัดสินใจ “ทำ” ว่าจะเลือกปฏิบัติหรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่สื่อกำลังนำเสนอหรือชักจูงเรา ว่าเราจะซื้อหรือไม่ซื้อ จะแชร์หรือไม่แชร์ จะกดไลก์หรือไม่กด โดยที่เรารู้เท่าทันและรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ การที่ส่งข้อความย้ำเตือนกันจะทำให้ได้ฉุกคิดว่า “เราต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำของเราด้วย”

สวัสดีวันศุกร์ “หยุด คิด ถาม ทำ” จำให้แม่น

เช้าวันศุกร์ วันสุดท้ายของการทำงาน หลังจากผ่านพ้นและครบถ้วนกระบวนการรู้เท่าทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” แล้ว แต่เนื่องจากบางครั้งเราก็มักจะลืม เพราะอาจจะมีธุระอื่น หรือไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทบทวน ซึ่งการมีผู้สูงอายุคอยส่งข้อความให้ จะเป็นเหมือนการคอยกระตุกให้คนที่เราห่วงใยได้ฉุกคิด และจดจำกระบวนการการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลที่ได้รับอยู่ตลอดเวลา อันจะทำให้คนที่ผู้สูงอายุห่วงใยได้รับรู้ถึงความคิดถึง และความปรารถนาดีที่อยากให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สื่อ

จากตัวอย่าง “สวัสดีวันจันทร์” แบบใหม่ ที่ส่งความห่วงใยและส่งต่อความปลอดภัยให้กับคนที่ห่วงใย โดยได้นำเอาโมเดลการรู้เท่าทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” มาปรับใช้ โดยหยิบเอาข้อความสั้น ๆ ที่จดจำง่าย มาตกแต่งใส่ในข้อความ “สวัสดีวัน…” เพื่อเตือนสติคนที่ห่วงใยให้ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง รู้เท่าทัน และรับผิดชอบ จะทำให้ตัวผู้สูงอายุเอง เพื่อนผู้สูงอายุ ลูกหลาน คนในครอบครัว สามารถใช้สื่ออย่างเพลิดเพลิน เกิดการความรู้ที่พอกพูน พัฒนาระดับสติปัญญา และจิตใจต่อไป

เขียนโดย             นายอิศรา หงษาวัน (นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

รายการอ้างอิง

  1. Thairath. (2561). พฤติกรรมใช้ไลน์คนรุ่นเก๋า ตื่นเช้าตรู่ ฮิตส่งคำทักทายรูปดอกไม้. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567 จากhttps://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing/1377807
  2. Natni, P. (2566). อย่ารำคาญกันเลย! กับเหตุผลที่ผู้ใหญ่ชอบส่งรูปภาพสวัสดีวันจันทร์. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567 จาก
  3. https://blog.renthub.in.th/RH230–อย่ารำคาญกันเลย-กับเหตุผลที่ผู้ใหญ่ชอบส่งรูปภาพสวัสดีวันจันทร์
  4. นันทิยา ดวงภุมเมศ ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ธีรพงษ์ บุญรักษา ณรงเดช พันธะพุมมี และวราภรณ์ สืบวงศ์สุวรรณ. (2566). รายงานผลสํารวจสถานการณ์การใช้สื่อ ผลกระทบจากการเปิดรับสื่อพฤติกรรมการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ. 2566. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567 จาก https://www.iceml.org/Doc/ResearchReport-2024-Media-Usage.pdf
  5. ศูนย์วิชาการด้านการรูเท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ. (ม.ป.ป.). คาถา “หยุด คิด ถาม ทำ”. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2567 จาก https://www.iceml.org/ innovation-vdoclip-th/
Scroll to Top