ผู้สูงอายุชอบดูอะไร
คนไทยในอดีตนิยมเสพความบันเทิงที่มาในลักษณะของการบอกเล่าเรื่องราวทางมุขปาฐะหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อกันมา นิทานพื้นบ้านหรือพุทธชาดกก็นับเป็นความบันเทิงชนิดหนึ่งที่มาร่วมกับการไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด กล่าวได้ว่าวัฒนธรรมการหาความบันเทิงจากเรื่องเล่านั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทย (และแทบทุกสังคม) มาช้านาน เมื่อกาลเวลาผ่านไป เรื่องเล่าต่าง ๆ นั้นก็พัฒนารูปแบบการเล่าและการถ่ายทอดให้สนุกสนานเร้าใจมากยิ่งขึ้นและออกมาในรูปแบบของการแสดง นาฏกรรม การฟ้อนรำ ฯลฯ การรับชมการแสดงและหาความบันเทิงของผู้สูงอายุในอดีตก็คือการได้ออกไปชมมหรสพต่าง ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เคยทำเมื่อสมัยครั้งยังหนุ่มยังสาวอย่างเช่นการได้ออกไปดูลิเก หมอลำ ลำตัด ตามงานวัดหรืองานรื่นเริงต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมการชมมหรสพเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่การออกไปเพื่อชมการแสดงหรือดื่มด่ำกับเนื้อหาสาระเหมือนอย่างที่คนรุ่นใหม่ทำเวลาออกไปโรงภาพยนตร์ แต่การไปชมมหรสพในอดีตนั้นหมายถึงการออกไปทำกิจกรรมสันทนาการและพบปะผู้คนในชุมชน การได้นั่งล้อมวงพูดคุยกับญาติสนิทมิตรสหาย กินอาหารที่ขายในงานวัด และมีลูกเล็กเด็กแดงวิ่งเล่นไปมาเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการชมการแสดงบนเวที กิจกรรมเหล่านี้หล่อหลอมพฤติกรรมการรับชมสื่อบันเทิงของคนในรุ่นก่อนให้มีลักษณะไม่หยุดนิ่งและพร้อมที่จะทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกันแบบที่เรียกว่า multi-tasking ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์ของผู้สูงอายุหรืออาจกล่าวได้ว่าคนไทยโดยรวมด้วยเช่นกัน1
อันที่จริงแล้วพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์นั้นก็คล้ายคลึงกันทั้งโลกดังที่ Marshall McLuhan ได้กล่าวไว้ว่าโทรทัศน์เป็นสื่อเย็น (cold medium) เนื่องจากมีช่องว่างให้ผู้รับสารเข้าไปมีส่วนร่วมค่อนข้างสูงและมีเนื้อหาข่าวสารที่เข้มข้นน้อยกว่า ส่วน Raymond Williams เรียกการชมโทรทัศน์ว่ามีลักษณะของการไหลไป (flow) เนื่องจากการรับชมโทรทัศน์นั้นผู้ชมไม่ได้นั่งดูเพียงรายการใดรายการหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นการนั่งดูรายการหลาย ๆ ประเภทที่ไหลต่อเนื่องไปตามผังรายการซึ่งผู้ชมที่เคยชินกับการชมโทรทัศน์ก็เรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อการรับสารที่หลากหลาย ผู้ชมสามารถปรับตัวได้กับเนื้อหาที่ทั้งเกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกันที่ถูกนำเสนอต่อเนื่องกัน นอกจากนี้ผู้ชมโทรทัศน์ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องนั่งอยู่กับที่แต่ทำกิจกรรมอื่นไปพร้อมกันได้ ไม่ว่าจะทำงานบ้าน ทานอาหาร หรือเดินเข้าเดินออกห้องดูทีวี เรียกว่าเป็นการรับชมแบบผลุบเข้าผลุบออก (sporadic viewer) ต่างจากการชมภาพยนตร์ในโรงที่ผู้ชมถูกบังคับด้วยสถานที่ให้นั่งนิ่ง ๆ2 และในกรณีของผู้ชมชาวไทยนั้นดูเหมือนว่าความหลากหลายของกิจกรรมนั้นจะมากกว่านั้นเพราะมีพื้นฐานมาจากการชมมหรสพตั้งแต่ในอดีต ดังนั้นเมื่อโทรทัศน์ถูกนำเข้าสู่ห้องนั่งเล่นในครัวเรือน มันจึงไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงการแสดงที่คนดูต้องจับจ้องอย่างไม่คลาดสายตา แต่เป็นวัตถุที่เข้ามาเสริมการทำกิจกรรมในครอบครัวนั่นเอง
ผู้สูงอายุดูอะไรในทีวี
ผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเติบโตมาพร้อม ๆ กับการเข้ามาของเครื่องเล่นโทรทัศน์และการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยซึ่งเริ่มแพร่หลายช่วงทศวรรษ 1950 สถานทีโทรทัศน์แรกของประเทศไทยคือไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2498 คนกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ที่มีความผูกพันกับโทรทัศน์อย่างมากเนื่องจากเติบโตมาพร้อม ๆ กับการที่มีโทรทัศน์เป็นสื่อหลักของชีวิต ต่างจากคนในยุคหลังที่มีสื่อหลากหลายประเภทกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมผู้ชมหลักของรายการโทรทัศน์ในทุกวันนี้คือผู้สูงวัย ในขณะที่วัยกลางคน วัยรุ่น หรือเยาวชนต่างพากันออกห่างจากการรับชมโทรทัศน์ในชีวิตประจำวัน และในภาวะที่อุตสาหกรรมบันเทิงในโทรทัศน์ถูกแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไปเนื่องจากแฟลตฟอร์มการรับชมอื่น ๆ อย่างเช่นบริการวีดีโอสตรีมมิ่ง เว็ปไซต์ และแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ จนทำให้เรตติ้งหรือความนิยมของรายการต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ผู้สูงอายุคือความหวังหลักของสถานีโทรทัศน์และผู้ผลิตรายการเพราะคนกลุ่มนี้คือผู้ชมรายการที่เหนียวแน่นอย่างที่เรียกได้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ ทั้งด้วยปัจจัยด้านเวลาว่างที่มีมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ กำลังทรัพย์ที่มีมากเพราะส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณ และพฤติกรรมที่นิยมการรับชมรายการจากเครื่องเล่นโทรทัศน์มากกว่าอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ ดังนั้นผู้ผลิตรายการในปัจจุบันนี้จึงหันมาผลิตรายการเอาใจผู้ชมกลุ่มสว.หรือสูงวัยค่อนข้างมาก3
หากถามว่าผู้สูงอายุนิยมดูรายการอะไรจากโทรทัศน์ คำตอบก็หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นละคร รายการวาไรตี้ เกมโชว์ โดยเฉพาะรายการเพลงนั้นเป็นที่นิยมมากในหมู่ผู้สูงอายุ ทั้งรายการเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง เช่นรายการ ไมค์หมดหนี้ ไมค์ทองคำ ชิงช้าสวรรค์ ดวลเพลงชิงทุน The Golden Song เวทีเพลงเพราะ ฯลฯ เนื่องจากดูแล้วรู้สึกสบายใจ ได้ฟังเพลงเก่า ๆ ในยุคที่ตัวเองยังหนุ่มยังสาว บวกกับผู้สูงอายุนิยมดูสิ่งที่ตัวเองรู้สึกคุ้นเคยและผูกพัน ทำให้มีแนวโน้มที่จะดูรายการเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อย่างเช่นรายการไมค์หมดหนี้ที่มีนักร้องเสียงทองอย่างไรอัลเป็นแชมป์มาแล้วกว่า 200 สมัยก็ยังคงเป็นขวัญใจผู้ชมรุ่นใหญ่อยู่อย่างเหนียวแน่นไม่มีใครมาล้มแชมป์ได้จนต้องขอสละตำแหน่งไปเองเมื่อไม่นานมานี้ หรือว่าละครซิทคอมที่ผู้สูงอายุจะรู้สึกผูกพันกับเนื้อเรื่องและตัวละครที่ตนเองคุ้นเคยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ละครซิทคอมก็ยังมีเนื้อเรื่องที่เสพง่าย ไม่ซับซ้อน จบในตอน เน้นเรื่องราวในครอบครัวอย่างเช่นบ้านนี้มีรัก บางรักซอย9 สุภาพบุรุษสุดซอย หรือรายการเกมโชว์ของช่องเวิร์คพอยท์ก็เป็นที่นิยมอย่างมากจนผู้สูงวัยหลายบ้านแทบจะเปิดแช่ไว้ทั้งวันเนื่องจากมีรายการหลากหลาย ดูแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ ไม่เครียด
พฤติกรรมการรับชมที่เปลี่ยนไปและการใช้สื่อออนไลน์ของผู้สูงอายุ
แต่ถ้าใครจะบอกว่าผู้สูงอายุดูเป็นแต่โทรทัศน์ ไม่ใช้เครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ ที่ทันสมัยก็ต้องทบทวนความคิดเสียใหม่ เพราะผู้สูงอายุในปัจจุบันนี้แทบทุกคนต่างก็ใช้สมาร์ตโฟนเป็นกันแล้วทั้งนั้น เรียกว่าไม่ได้ตกยุคหรือล้าสมัยแบบที่เข้าใจกัน เพียงแต่ว่าวิธีการใช้และเนื้อหาที่รับชมอาจจะแตกต่างจากวัยรุ่นวัยทำงานไปบ้างก็เท่านั้นเอง อย่างเช่นการนิยมใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ส่งภาพสวัสดีวันจันทร์ เป็นต้น เมื่อพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่มาผนวกเข้ากับนิสัยการดูละครของคนไทย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเสพสื่อพร้อมกันหลายช่องทาง ลูกหลานหลายบ้านจึงอาจมีประสบการณ์ร่วมกันของการที่พ่อแม่วัยเกษียณเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้แก้เหงาแต่มือก็เล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วย ทั้งตอบไลน์ เล่นเฟซบุ๊ค หรือแม้แต่ดูคลิปวีดีโอ ซึ่งแอพพลิเคชั่นที่ผู้สูงอายุนิยมใช้มากที่สุดก็คือเฟซบุ๊คและไลน์เพราะใช้ติดต่อสื่อสารและติดตามชีวิตของญาติมิตร4,5 ระยะหลังนี้เริ่มมีการส่งต่อวีดีโอในกรุ๊ปไลน์มากขึ้นรวมถึงความนิยมดูวีดีโอขนาดสั้น (reels) ในเฟซบุ๊ค YouTube Shorts และ TikTok กันมากขึ้น ซึ่งคลิปวีดีโอที่ผู้สูงอายุนิยมดูก็หลากหลายมาก ทั้งคลิปวีดีโอตลกสั้น ๆ คลิปธรรมะ มิวสิควีดีโอเพลงลูกทุ่งและลูกกรุง และการรับชมสิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการรับชมรายการโทรทัศน์ เรียกว่าประสบการณ์การรับชมแบบพร้อมกันหลายช่องทางนั้นไม่ได้มีแต่ในหมู่วัยรุ่นหรือคนอายุน้อยเท่านั้น
ด้วยสาเหตุนี้ ผู้สูงอายุจึงเป็นแฟนพันธุ์แท้ของรายการโทรทัศน์รวมถึงสื่อบันเทิงหลากหลายชนิดที่พากันย้ายตัวเองจากจอโทรทัศน์มาสู่จอโทรศัพท์ แม้จะเติบโตและคุ้นเคยกับการมีโทรทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมาอย่างยาวนานแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะปรับตัวเข้ากับรูปแบบและพฤติกรรมการรับชมรูปแบบใหม่ พูดอีกอย่างก็คือ การรับชมสื่อในมือถือของผู้สูงอายุไม่ได้เบียดบังเวลาในการรับชมโทรทัศน์แต่กลับเข้ามาส่งเสริมกัน ทำให้ประสบการณ์ในการรับชมโทรทัศน์หลากหลายมากขึ้น เช่นการดูคลิปวีดีโอสั้น ๆ ที่ตัดมาจากรายการประกวดร้องเพลงก็จะยิ่งทำให้ผู้สูงอายุอยากรับชมรายการนี้มากยิ่งขึ้นไปอีกและการส่งต่อคลิปในหมู่เพื่อนฝูงก็จะยิ่งทำให้รายการเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งสำหรับผู้สูงอายุแล้วขอแค่เพียงมีเนื้อหาที่ถูกใจก็พร้อมที่จะเป็นแฟนรายการ เรียกได้ว่าเป็นฐานคนดูขนาดใหญ่และเหนียวแน่นที่ผู้ผลิตรายการในปัจจุบันไม่ควรมองข้ามไปเลยทีเดียว
โดย อาจารย์ ดร. กิตติยา มูลสาร
ศูนย์บูรณาการมนุษยาภิวัตน์ คณะมนุษยศาสตร์
รายการอ้างอิง
- Vichit-Vadakan, J. (2003). Thai Movies as Symbolic Representation of Thai Life. Aséanie, Sciences humaines en Asie du Sud-Est, 12(1), 157-169.
- สมสุข หินวิมาน. (2558). อ่านทีวี: การเมืองวัฒนธรรมในจอโทรทัศน์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์พารากราฟ.
- ไทยรัฐ. (2564). อย่ามองข้าม “ผู้สูงอายุ” เงินมี เวลามี นั่งดูทีวีทั้งวัน เจาะไพรม์ไทม์วัยเก๋า. https://www.thairath.co.th/entertain/news/2104020
- ดวงทิพย์ เจริญรุกข์. (2563). พฤติกรรมการใช้และยอมรับนวัตกรรมสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารนิเทศศาสตร์ปริทัศน์, 24(2), 229-237.
- ภัทรพงษ์ รื่นเอม และวิไลภรณ์ จิรวัฒนเศรษฐ์. (2564). สื่อสังคมออนไลน์กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารนิเทศสยามปริทัศน์, 20(2), 139-149.