การสื่อสารเพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าของผู้สูงวัย

เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวปรากฏตามหน้าสื่อสังคมออนไลน์ว่า ผู้สูงวัยในประเทศเนเธอร์แลนด์มีโอกาสหาเพื่อนคุยยามเหงาในขณะเดินทางไปซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่ซูเปอร์มาเก็ตได้ โดยห้าง Jumbo ในเนเธอร์แลนด์เปิดตัวช่องคิดเงินแบบใหม่ที่ทำให้ผู้สูงวัยใช้เวลาที่หน้าแคชเชียร์เป็นเวลานานมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสได้พูดคุยกับพนักงาน การเปิดช่องชำระเงินพิเศษให้ผู้สูงวัยที่มาซื้อสินค้าได้พูดคุยกับพนักงานนั้น เป็นโครงการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา จนทำให้ประชาชนต้องกักตัวในบ้าน ไม่มีโอกาสได้พบปะกันตามปกติ ในปัจจุบัน ห้าง Jumbo ได้ขยายการให้บริการพิเศษนี้เพิ่งขึ้นกว่า 200 แห่ง สร้างเสริมบทบาทสำคัญในสังคม ทำให้ร้านค้าเป็นสถานที่นัดพบ ช่วยสร้างความหมายของชีวิตและต่อสู้กับความเหงาโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัยที่มักจะมีความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวได้ง่าย1

ลักษณะการทำธุรกิจเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นภาพสังคมที่มีความโดดเดี่ยวต่างคนต่างอยู่เพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อหันกลับมามองประเทศไทย เราอาจจะพบว่า จำนวนคนที่กลายเป็นโรคซึมเศร้ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามสภาพสังคมที่ห่างเหินกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มักต้องอยู่คนเดียว เพราะลูกหลานอยู่ไกลกัน จนอาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โรคซึมเศร้าเป็นภาวะทางอารมณ์ซึ่งอาจเกิดจากการสูญเสียหรือผิดหวัง อันเกิดการถูกทอดทิ้ง การเผชิญกับอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงในชีวิตกะทันหัน หรือการสูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้ามักจะมีความรู้สึกหม่นหมอง หงุดหงิดง่าย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง อาการทางกายคือน้ำหนักลดลงหรือน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ร่างกายอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง2

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2563 คนไทยมีคะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ย 33.53 คะแนน ซึ่งนับว่าอยู่ในระบบมาตรฐานสำหรับสุขภาพจิตที่ยังไม่น่าเป็นห่วง โดยคะแนนระดับนี้จะอยู่ในสัดส่วนโดยประมาณ 27.01-34.00 คะแนน สำหรับกลุ่มมีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีคะแนนสุขภาพจิตที่ 33.76 คะแนน เมื่อเทียบกับกลุ่มวัยอื่น ๆ ก็ยังนับว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่า3 อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นกลุ่มที่คะแนนสุขภาพจิตสูง แต่แนวโน้นการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดจำนวนผู้ที่มีสุขภาพจิตแย่ลงตามมามากขึ้นได้เช่นกัน

ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุก็คือ การปรับตัวในการใช้ชีวิตเพื่อรับกับสถานการณ์ในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะความเสื่อมทางกายที่ส่งผลให้เกิด “ความช้า” ทั้งในด้านการเคลื่อนไหว การรับรู้ทางประสาทสัมผัส และการเรียนรู้ทำความเข้าใจสิ่งใหม่ จนในบางครั้งทำให้แสดงออกในลักษณะการเรียกร้องให้ผู้อื่นมาดูแลใส่ใจ การหนีปัญหา โทษผู้อื่น การปฏิเสธความจริง และการเศร้าซึมจนก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ทางด้านสุขภาพตามมา ในขณะที่ความพยายามในการปรับตัวยังอาจนำมาซึ่งความคิดระแวงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงวัยเกิดความวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้ง และไม่ยอมรับความจริงกับสภาพ “ความชรา” ที่เกิดขึ้น4

การส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้สูงอายุจึงถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยนอกจากการให้ความเคารพ สร้างกิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ กระตุ้นในผู้สูงอายุเข้าใจว่าสามารถเป็นที่ปรึกษาของคนทุกคนได้ เพื่อให้รู้ผู้สูงอายุสึกว่าตนเองมีคุณค่ากับคนรอบข้างแล้ว5 การใช้เวลาในการพูดคุยสื่อสารความเป็นไปในชีวิตประจำวันก็จะช่วยคลายความรู้สึกเหงาและถูกทอดทิ้งได้ อีกทั้ง ยังช่วยให้เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ตัวอย่างธุรกิจในเนเธอร์แลนด์ข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการสื่อสารปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้มีความซับซ้อนและสามารถทำได้โดยง่ายในครอบครัว ชุมชน และสังคม อีกทั้งยังเป็นโมเดลที่ภาคธุรกิจไทยอาจนำมาปรับใช้ได้เพื่อร่วมดูแลผู้สูงอายุไทยได้อีกด้วย

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 16 พฤษภาคม 2566

รายการอ้างอิง

  1. Massey, J. (2023). Grocery store introduces ‘slow checkout lane’ for people who enjoy talking in line. Unilad. https://www.unilad.com/news/slow-checkout-lane-netherlands-supermarket-205944-20230109
  2. กรมสุขภาพจิต. (2565). เปิดสถิติ โรคซึมเศร้ากับสังคมไทย ภัยเงียบทางอารมณ์ของคนยุคใหม่. https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=31459
  3. สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2563). สรุปผลที่สำคัญ การสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) ของคนในประเทศไทย พ.ศ. 2563. http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านสังคม/สาขาสุขภาพ/ความสุข/2563/190864_11.pdf
  4. ศรีประภา ชัยสินธพ. (ม.ป.ป.). สภาพจิตใจของผู้สูงอายุ. RamaMental. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/07172014-1131
  5. กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2564). ผู้สูงอายุกับเรื่องสุขภาพจิต. https://www.dop.go.th/th/know/15/412
Scroll to Top