เมื่อวัยเก๋าต้องรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล หลักสูตรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับผู้สูงอายุจึงเกิดขึ้น

ผู้สูงอายุทุกคนล้วนแต่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งจากตัวผู้สูงอายุเองและจากสภาพแวดล้อมในสังคม ซึ่งบางครั้งกลายเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดภัยอันตรายต่อตัวผู้สูงอายุที่สังคมควรให้ตะหนักถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่มักจะคลาดเคลื่อนด้วยเหตุปัจจัยที่หลากหลาย หรือบางครั้งข้อมูลข่าวสารที่ได้รับก็เกิดข้อผิดพลาดได้ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมที่เราก็จะเห็นหรือได้ฟังจากข่าว หรือประสบการณ์คนรอบข้างอยู่บ่อยครั้ง การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนและผิดพลาดในสื่อต่าง ๆ อาจทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบเชิงลบจากการใช้สื่อหลายประการ เช่น ถูกหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ หลงกลมิจฉาชีพที่แฝงเข้ามา หลงเชื่อโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองที่เก็บออมไว้ใช้ในบั้นปลายของชีวิต และบางครั้งเพิ่มปัญหาทางสุขภาพให้ซับซ้อนหรือรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องเป็นความเครียด วิตกกังวล หรือเกิดภาวะต่าง ๆ 1 นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังอาจกลายเป็นกลุ่มเครือข่ายที่เป็นต้นตอของการเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ ไม่ว่าจะจากการแชร์ภาพ ส่งต่อข่าวสาร และข้อมูลโดยไม่ได้ตรวจสอบหรือกลั่นกรองความถูกต้องให้ดีเสียก่อน รวมไปถึงการนำข้อมูลส่วนตัวผู้อื่นไปใช้จนเกิดความเสียหาย2 ผลกระทบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของการใช้สื่ออย่างไม่รู้เท่าทันสถานการณ์ ทั้งนี้การเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้กับกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นประเด็นทางสังคมที่ถือว่าสำคัญไม่น้อยไปกว่าประเด็นทางสังคมด้านอื่นๆ เลย ไม่ว่าจะการเมือง เศรษฐกิจ หรือการดูแลสุขภาพ

จากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ส่งผลให้ องค์กร สถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ และพยายามที่จะหาทางเสริมภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งราวกับเป็นการติดอาวุธให้กับผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับสภาวะที่สื่อเข้าถึงตัวอยู่ตลอดเวลา โดยส่วนใหญ่จะมีการจัดทำหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันเทคโนโลยี การใช้สื่อหรือเทคโนโลยี รวมไปถึงการนำสื่อไปสร้างสรรค์ในด้านอื่น ๆ หรือแม้แต่การสร้างรายได้จากสื่อก็ด้วย ซึ่งจะขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่ามีหลักสูตรใดบ้างที่ถูกสร้างมาเพื่อผู้สูงอายุในประเทศไทย

หลักสูตร “วัยเพชรรู้ทันสื่อ” จัดทำโดยกลุ่มวิจัยการสื่อสารเพื่อพัฒนา ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม “ผู้สูงอายุรู้ทันสื่อ: สร้างหลักสูตรและขยายเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะ” ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสสส. ที่มีเป้าหมายหลักในการสร้างหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุไทย ที่สามารถใช้ในสร้างเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้ผู้สูงอายุได้จริง ได้รับการยอมรับนำไปปรับใช้โดยกลุ่มผู้สูงอายุ และโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศ และที่สำคัญคือ เป็นหลักสูตรที่สามารถสอนโดยผู้สูงอายุด้วยกันเองได้ อีกทั้งเป็นหลักสูตรที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน และมีแนวคิดให้จดจำและนำไปใช้ได้ง่าย โดยผ่านคาถารู้ทันสื่อ 4 คำ นั่นคือ หยุด คิด ถาม ทำ นั่นเอง3

หลักสูตร “สูงวัยอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันมิจฉาชีพดิจิทัล” จัดทำโดยวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดไร่ขิง ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสูงวัยอย่างสร้างสรรค์ รู้ทันมิจฉาชีพดิจิทัล ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ด้านการรู้เท่าทันจากภัยมิจฉาชีพดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุ และส่งเสริมความเข้าใจข้อเท็จจริงภัยมิจฉาชีพดิจิทัล ให้สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยมีการนำหลักธรรมศีล 5 มาเป็นเครื่องมือในการรู้เท่าทัน4

หลักสูตร “วัยเก๋าไทย Go Cyber” โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency: ETDA (เอ็ตด้า) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันจัดทำ “คู่มือการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้อินเทอร์เน็ต (Digital Citizen)” เพื่อเป็นต้นแบบ หลักสูตรการอบรม ถ่ายทอดความรู้ การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไรให้สร้างสรรค์ รู้เท่าทันโลกออนไลน์ เพื่อยกระดับเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ สู่พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ และเพื่อให้เด็ก ผู้สูงอายุเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย จึงใช้ภาษาที่สามารถสร้างการจดจำและเนื้อหาในรูปแบบที่สร้างสรรค์5

หลักสูตร “ผู้สูงวัยดิจิทัล” โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา (CCDKM) ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านบริการบทเรียนออนไลน์แบบเปิด หรือ Massive Open Online Courseware (Mooc) เป็นบทเรียนออนไลน์ที่เปิดให้ใช้บริการฟรีรองรับผู้เข้าเรียนได้จำนวนมาก โดยผู้เรียนสามารถดูวิดีโอบรรยาย ฝึกปฏิบัติ ทำแบบทดสอบแบบฝึกหัด และร่วมสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้อีกด้วย โดยเนื้อหามีรูปแบบสื่อสารเข้าใจง่ายผ่านคลิปวิดีโอ สามารถทำความเข้าใจได้ ง่ายและใช้เวลาไม่นาน6

            ทั้ง 4 หลักสูตรข้างต้นเป็นหลักสูตรที่เป็นเหมือนวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้สูงอายุไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของสื่อและเทคโนโลยี โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ผู้สูงอายุที่ผ่านการเรียนหรืออบรมตามหลักสูตรเหล่านี้แล้วจะต้องมีความรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น รู้จักตรวจสอบและคัดกรองข่าวสารหรือข้อมูลที่ได้รับก่อนแชร์ต่อให้ผู้อื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเครือข่ายของการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือข่าวสารที่ผิดพลาดได้ แต่เพียงเท่านี้ยังไม่พอ เมื่อผู้สูงอายุเป็นผู้ที่รู้เท่าทันเหล่าสื่อต่าง ๆ ที่เข้ามา และมีความเท่าทันเทคโนโลยีเพียงพอแล้ว ผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็น Active Aging นั้น ยังต้องมีการใช้สื่อได้ ใช้เทคโนโลยีเป็นเพื่อมาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ด้วย ยิ่งไปกว่านั้น จากกระแสของการขายของออนไลน์ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ยังมีหลักสูตรอีกมากมายที่พยายามจะเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ และสร้างอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุได้อีกด้วย ซึ่งจะขอกล่าวถึงและยกตัวอย่างในบทความถัดไป

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่ วันที่ 30 ตุลาคม 2566

รายการอ้างอิง

  1. กันติพิชญ์ ใจบุญ และพรเทพ เฮง. (2561). อาวุโสเล่นโซเซียลฯ ป้องกันเสื่อง เลี่ยงมิจฉาชีพ. POST TODAY. https://www.posttoday.com/life/healthy/551718
  2. พนม คลี่ฉายา. (2563). การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของผู้สูงอายุ และข้อเสนอเพื่อการเสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุไทย. รายงานการวิจัย. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).
  3. Doungphummes, N., Sasiwongsaroj, K., Bhibulbhanuvat, S., Boonrugsa, T., & Suebwongsuwan, W. (2023). การสร้างหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุไทยด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม. Journal of Communication Arts, 41(2), 120-138.
  4. ข่าวสดออนไลน์ (12 พฤศจิกายน 2566). มจร.วัดไร่ขิงสร้างแกนนำกลุ่มผู้สูงอายุ รู้ทันเล่ห์มิจฉาชีพดิจิทัล. https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7959246
  5. Anucha Somabut. (มกราคม 2566). วัยเก๋าไทย Go Cyber. https://x.kku.ac.th/enrol/index.php?id=123
  6. ThaiHealth Official. (30 ธันวาคม 2564). หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล ของขวัญรับปีใหม่ 2565. https://www.thaihealth.or.th/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%97/
Scroll to Top