ท่ามกลางคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมเมื่อปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ชนิดใหม่อย่าง ChatGPT เกิดขึ้น คนในหลายวงการต่างมองปรากฏการณ์นี้เป็นทั้งโอกาสและภัยที่อาจทำให้ตนเสียผลประโยชน์จากการมีเครื่องมืออัตโนมัติในการสร้างสรรค์ผลงาน สำหรับประเด็นผู้สูงวัย เราจะใช้ประโยชน์จาก ChatGPT เพื่อลดความรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวในผู้สูงอายุหรือความช่วยเหลือด้านสุขภาพได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามสำคัญที่ต้องค้นหาคำตอบ
เมื่อไม่นานมากนี้ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้าน AI แห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ได้ประกาศว่า กำลังจัดสร้างเทคโนโลยีการดูแลผู้สูงอายุด้วยระบบ AI พร้อมหุ่นยนต์คู่หูสำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว อันเป็นแนวทางสำคัญในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีนี้ถูกรวมเข้ากับบริการ ChatGPT เพื่อให้ AI สนทนาคล้ายมนุษย์ เป็นการโต้ตอบกับผู้สูงอายุได้อย่างทันทีทันใด โดยสร้างหุ่นยนต์ที่ชื่อ Dasom-K หรือ ซึ่งใช้ ChatGPT กับการดูแล โดยตั้งเป้าหมายที่จะให้แนวทางนี้เป็นบรรทัดฐานสำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
บริษัทดังกล่าวปรับโปรแกรม GPT3.0 ให้เข้ากับหุ่นยนต์ ผ่านระบบ AI เพื่อรวบรวมข้อมูลบันทึกชีวิต เช่น เวลานอน กิจกรรม และลักษณะสุขภาพของผู้สูงวัย โดยถามคำถามเพื่อขอรับข้อมูลจากผู้สูงอายุ หุ่นยนต์พร้อม ChatGPT นี้ มีฟังก์ชันพื้นฐาน อาทิ ระบบเตือนการกินยา การเล่นเพลง การวินิจฉัยสุขภาพผ่านไปยังแพทย์หรือบุคคลที่สาม การสนทนาทางวิดีโอกับครอบครัว การโทรศัพท์ฉุกเฉิน กระทั่งส่งสัญญาณฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาล โดยในอนาคตอาจมีแผนในการรวมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอื่น ๆ เข้าไว้ในหุ่นยนต์ด้วย เช่น เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด เครื่องวัดความดัน เป็นต้น1
กระนั้นก็ดี ยังมีงานวิจัยที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ AI ในลักษณะการโต้ตอบด้วยภาษาเช่นนี้2 งานวิจัยกล่าวถึงแง่ดีว่า แบบจำลองทางภาษาผ่าน AI อาจมีศักยภาพที่ดีในการเร่งสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และสามารถนำมาใช้ในการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน รวมถึงการดึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากข้อความทางการแพทย์ เช่น บันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ บันทึกทางคลินิก และเอกสารการวิจัย นอกจากนั้น ยังอาจอำนวยความสะดวกในการเผยแพร่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในด้านผู้สูงวัย โดยการแปลงานวิจัยที่ซับซ้อนให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายขึ้นสำหรับสาธารณชนทั่วไป
กระนั้นก็ดี แม้ว่าโมเดลทางภาษาอย่าง ChatGPT ที่ AI ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์จะดูฉลาดราวกับเป็นมนุษย์ แต่การทำงานในสถานการณ์จริงยังเป็นข้อกังขาว่าจะเป็นประโยชน์ได้ตามที่คาดหวังหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องมีการคิดวิเคราะห์และประมวลผลการใช้ภาษาในระดับสูงและซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์จึงจำเป็นต้องเข้าใจขีดจำกัดและความสามารถของ ChatGPT โดยการพิจารณาว่า เนื้องานประเภทใด หรือสถานที่จำเพาะใดที่เหมาะจะใช้ ChatGPT ในการอำนวยความสะดวก นอกจากนั้น ข้อจำกัดสำคัญคือ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ภาพหลอน” หรือการที่ ChatGPT สร้างคำตอบที่ฟังดูน่าเชื่อถือ แต่อาจไม่ถูกต้องหรือมีข้อมูลที่มีการอ้างอิงแน่ชัดจนเกิดเป็นปัญหาใหญ่
ในกรณีของผู้สูงวัยที่ยิ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพด้วยแล้ว การใช้ ChatGPT มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต อาจยิ่งต้องเผชิญความท้าทายหรือต้องมีการสร้างกลไกที่มีความปลอดภัยมากขึ้นไปอีก3 สิ่งที่ควรตระหนัก คือ ChatGPT อาจสร้างข้อความที่ไม่ถูกต้องที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้ เพราะการผลิตข้อมูลด้านสุขภาพของผู้สูงวัย จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยจากผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนประเด็นด้านจริยธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้งาน AI ชนิดนี้ จะเข้าใจข้อจำกัดและเลือกใช้คำแนะนำจาก AI ที่เหมาะสม ยิ่งกว่านั้น เราควรระลึกเสมอว่า ในขณะที่เทคโนโลยี AI ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เราจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าการใช้งานจากสิ่งที่มิใช่มนุษย์จะไม่เป็นภัยต่อความปลอดภัยสาธารณะ
โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 28 มีนาคม 2566
รายการอ้างอิง
- Drilon, R. (2023). Wonderful Platform showcases ChatGPT-powered companion robots for seniors. Healthcare Channel. https://healthcarechannel.co/wonderful-platform-showcases-chatgpt-powered-companion-robots-for-seniors/
- Cascella, M., Montomoli, J., Bellini, V., & Bignami, E. (2023). Evaluating the Feasibility of ChatGPT in Healthcare: An Analysis of Multiple Clinical and Research Scenarios. Journal of Medical Systems, 47(33). https://doi.org/10.1007/s10916-023-01925-4
- C., D., & J, P. (2023). ChatGPT and large language models: what’s the risk? National Cyber Security Centre. https://www.ncsc.gov.uk/blog-post/chatgpt-and-large-language-models-whats-the-risk#main