อย่างที่พวกเราทราบกันดี ตอนนี้โลกของเราได้เข้าสู่ยุคออนไลน์เต็มตัว จากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดนั้น ทำให้ผู้สูงอายุ หรืออาจจะเรียกได้ว่า “คนเก่า” จำนวนไม่น้อยเลยที่กำลังตาม “โลกใบใหม่” ไม่ทัน โลกที่ว่านั้นคือ โลกที่เต็มไปด้วยความล้ำสมัยของเทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ว่าจะจากอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ หรือแม้แต่อุปกรณ์ทันสมัยอย่าง สมาร์ทโฟน หากทว่าภัยร้ายทางเทคโนโลยีก็เข้ามาพร้อมกันด้วย ซึ่งกลโกงเหล่านั้นได้เจาะจงพุ่งเป้ามาที่กลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งนี้ การมีผู้สูงวัยในประเทศเป็นจำนวนมากนั้นไม่เพียงแค่เป็นการที่มีประชากรกลุ่มนี้ล้นประเทศเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดวิกฤตหรือสถานการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม เช่น สังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันของประชากรทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนตั้งรับกับสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อทำให้ผลกระทบที่จะตามมานั้นน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมไปถึงการเตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ซึ่ง “ประเทศจีน” ก็เช่นกัน
จำนวนผู้สูงอายุในประเทศจีนมีเพิ่มมากขึ้นจนเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของสังคมผู้สูงวัยเป็นที่เรียบร้อย โดยอ้างอิงจากการเก็บข้อมูลของ The National Bureau of Statistics ในปี 2021 ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีในประเทศจีนมีจำนวนมากกว่า 267 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 18.9% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และจากข้อมูลในปี 2022 ประชากรจีนที่อายุมากกว่า 60 ขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 280 ล้านคน คิดเป็น 19.8% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ1
ถ้าหากเปรียบเทียบจำนวนผู้สูงอายุกับจำนวนประชากรที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ตามรายงานพบว่า สิ้นปี 2563 ประเทศจีนยังมีประชากรจำนวน 416 ล้านคนที่เป็น non-internet users โดย 62.7% อยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่ง 46% ของ non-internet users เป็นกลุ่มชาวจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ จึงเป็นที่น่าติดตามว่า ในขั้นตอนต่อไปจีนจะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไรเพื่อเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ และพัฒนาสู่ “Digital China” อย่างเต็มรูปแบบ ส่วนประสบการณ์ของจีนในการเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยเช่นกัน2
แต่ถ้าพูดถึงจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีนนั้นสูงถึง 1.079 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 11.09 ล้านคน จากเดือนธันวาคม 2022 และอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 76.4% ปัจจุบัน จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นผู้สูงอายุในประเทศจีนมีจำนวนถึง 153 ล้านคน และสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในประเทศจีนจึงได้เริ่มคิดว่าความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุได้อย่างไร จากการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีนระบุว่า Xie Jun ชายหนุ่มชาวอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ค้นพบว่า ในช่วงที่มีโรคระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พ่อแม่ของเขาไม่รู้ว่าจะใช้งานโปรแกรมพื้นฐานในสมาร์ทโฟนอย่างไร เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะทำโปรแกรม เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเรียนรู้การใช้สมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ถึงปัจจุบัน มินิโปรแกรมที่พัฒนาโดยทีมงานของ Xie Jun ได้เปิดตัวบทช่วยสอนซอฟต์แวร์ให้กับผู้สูงอายุมากกว่า 100 รายการ และเนื้อหาทักษะมากกว่าการใช้สมาร์ทโฟนกว่า 4,000 รายการ ซึ่งปัจจุบันพวกเขายังได้จัดตั้งกลุ่มออกไลน์เล็ก ๆ ที่มีชื่อกลุ่มว่า “สอนพ่อแม่เล่นมือถือ” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 10,000 คน และที่สำคัญทีมงานของ Xie Jun กำลังพัฒนาเสียงในซอฟต์แวร์ให้เป็นภาษาถิ่นตามภูมิภาคต่าง ๆ ของจีนอีกด้วย3
ซึ่งแนวคิดของเขาตรงกับความต้องการของรัฐบาลจีนอย่างมากที่ต้องการส่งเสริมทักษะของผู้สูงอายุให้เข้าใจและเท่าทันต่อเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เมื่อปลายปี 2023 จากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ที่ได้เสนอโครงการ “การเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ตให้เหมาะสมตามวัย” เพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่ต้องเผชิญปัญหาเมื่อใช้เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ต และเพื่อส่งเสริมการสร้างสังคมข้อมูลที่คำนึงถึงความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการอย่างเต็มที่อีกด้วย โดยโครงการ “การเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ตให้เหมาะสมตามวัย” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์และแอปพลิเคชันอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้อินเทอร์เน็ตได้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้งานและความต้องการของผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเพลิดเพลินกับอินเทอร์เน็ตได้สะดวก ปลอดภัย และมีความสุข อีกทั้งยังให้บริการและความบันเทิงต่าง ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้น เนื้อหาการปรับปรุงประกอบด้วย: 1. การปรับปรุงอินเทอร์เฟซ (Interface) เพื่อให้มีการใช้งานที่ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อนเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าใจและใช้งานได้ง่ายขึ้น 2. การเสริมสร้างข้อมูลและเนื้อหาเพื่อตอบสนองความต้องการทางวัฒนธรรมของผู้สูงอายุ จึงได้จัดทำส่วนเนื้อหาพิเศษขึ้นเพื่อนำเสนอนิทานพื้นบ้าน เพลง และเนื้อหาอื่น ๆ ที่ผู้สูงอายุชอบฟังและดู ในเวลาเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงข้อมูลและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเป็นอันตราย เพื่อปกป้องความปลอดภัยและผลประโยชน์ของผู้สูงอายุ 3.การปรับปรุงประสบการณ์เชิงโต้ตอบ (interactive experience) โดยจัดให้มีวิธีการโต้ตอบที่ง่ายและใช้งานง่าย เช่น การจดจำเสียง การควบคุมด้วยท่าทาง ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ และ 4. การเสริมสร้างความปลอดภัย การปรับปรุงใหม่นี้มีฟังก์ชันความปลอดภัยที่จำเป็น เช่น การป้องกันไวรัสและการโจมตีของแฮ็กเกอร์ เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและเงินของผู้สูงอายุ โดยโครงการนี้มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงอายุมีจำนวนถึง 153 ล้านคน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลลัพธ์ของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุมากขึ้น รัฐบาลและทุกภาคส่วนในสังคมทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเสริม “การเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ตที่เป็นมิตรต่อวัย” และจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและฟังก์ชันเสริมที่ปราศจากอุปสรรคเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานของผู้สูงอายุ ขณะเดียวกัน ยังส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสนใจกับความต้องการของผู้สูงอายุและจัดหาผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถบูรณาการเข้ากับอินเทอร์เน็ตและใช้ชีวิตดิจิทัลได้ดีขึ้น4
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อสำคัญสำหรับการสื่อสารและการใช้ชีวิตของทุกคนอย่างมาก แต่ทว่าก็ยังมีอุปสรรคอยู่นั่นคือ “ช่องว่างทางดิจิทัล” (Digital Divide) ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุชาวจีนในสัดส่วนที่ใหญ่มาก โดยจำกัดให้พวกเขาโต้ตอบแบบออฟไลน์เท่านั้น นอกจากนี้ ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสองรูปแบบหลัก ได้แก่ ออฟไลน์และออนไลน์ อาจส่งผลให้มีความพึงพอใจในชีวิตสูงขึ้นในขอบเขตที่ต่างกัน5 ผลการศึกษายืนยันว่า การมีปฏิสัมพันธ์แบบออฟไลน์ รวมถึงการเป็นอาสาสมัคร การเป็นสมาชิกองค์กร และการพักผ่อนหย่อนใจกับเพื่อนและญาติ สามารถช่วยปรับปรุงความพึงพอใจในชีวิตของผู้สูงอายุได้ แต่ทว่าด้วยการถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตส่งผลให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมออนไลน์นั้นได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดไม่ว่าจะทางร่างกายหรือสภาพแวดล้อม ก็สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต6
สุดท้ายนี้ สังคมที่มีจำนวนผู้สูงอายุเยอะ อาจส่งผลกระทบทั้งด้านทรัพยากรแรงงานที่น้อยลง เศรษฐกิจก็จะชะลอตัวตาม ทำให้การแก้ไขปัญหานอกเหนือจากผลักดันการสร้างครอบครัวในกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว อีกหนึ่งวิธีคือการให้ความรู้กับเหล่าผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตตามทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือการให้การศึกษา ให้ความรู้ใหม่ ๆ หรือการจัดเตรียมคอร์สอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีระยะสั้น รวมไปถึงการอบรมการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี เพราะอย่างที่รู้กันว่าดีว่ากลโกงในโลกออนไลน์ ต่างพุ่งเป้ามายังกลุ่มคนสูงวัยที่ขาดความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยี และนอกจากสาเหตุนี้ก็ยังมีเพื่อให้ผู้สูงอายุเรียนรู้การใช้งานแอปพลิเคชั่นเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินที่เป็นวิธีจ่ายเงินหลักในประเทศจีน รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่พร้อมให้ผู้สูงวัยได้เข้ามาเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างรวดเร็ว
โดย อาจารย์ชาญเดช เทียนทอง
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
เผยแพร่เมื่อ 27 กันยายน 2566
รายการอ้างอิง
- GQ Thailand. (May 26, 2023). China opens classes specifically for seniors to teach how to use smartphones and social media. https://www.gqthailand.com/culture/social-issue/article/elderly-university-in-china-social-media-course
- Wen Bin. (September, 2021). China’s digital economy has grown against the trend of the COVID-19 crisis. https://thaibizchina.com/article/china-digital-economy/
- CCTV. (November 21, 2022). The Internet’s aging-friendly transformation both accelerates and increases the temperature. http://www.cac.gov.cn/2022-11/21/c_1670663809507770.htm
- Qianzibaitaiderenshiwu. (September 27, 2023). The number of Chinese Elderly Internet users has reached 153 million, and the “Internet aging-friendly transformation” has achieved remarkable resultshttps://baijiahao.baidu.com/s?id=1778179774782798418&wfr=spider&for=pc
- Lu, H., & Kandilov, I. T. (2021). Does Mobile Internet Use affect the Subjective Well-being of older Chinese adults? An Instrumental Variable Quantile Analysis. Journal of Happiness Studies, 22, 3137–3156. https://doi.org/10.1007/s10902-021-00365-6
- Sen, K., Prybutok, G., & Prybutok, V. (2022). The Use of Digital Technology for Social Well-being reduces social isolation in older adults: a systematic review. SSM-population health, 17, 1–9. https://doi.org/10.1016/j.ssmph.2021.101020