ชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุสร้างได้ด้วยการสื่อสารที่ดี

ชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ คือชุมชนที่มีแนวนโยบาย การบริการ และโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุอาศัยในชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างมีความสุข กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ชุมชนที่ใส่ใจและช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขอย่างปลอดภัย ทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพใจ ตัวอย่างการสร้างสภาพแวดล้อมในชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เช่น ทางเท้ามีแสงสว่างเพียงพอและอยู่ในสภาพดี อาคารต่าง ๆ มีประตูแบบเลื่อนเปิดหรือมีลิฟต์อัตโนมัติ และการที่ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนทุกประเภท เช่น การจัดการอบรมที่เป็นประโยชน์ หรือเปิดโอกาสให้ได้เป็นอาสาสมัครเพื่อการกุศลต่าง ๆ ทั้งนี้ สมาชิกในชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ ย่อมตระหนักดีว่าผู้สูงอายุมีทักษะและความสามารถที่หลากหลาย เข้าใจความต้องการต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ เคารพการตัดสินใจและการเลือกใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ตลอดจนดูแลปกป้องผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดี1

การสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุนี้ จำเป็นต้องมีการสื่อสารที่ดีเพื่อให้ทุกคนในชุมชนเข้าใจ และที่สำคัญคือตัวของผู้สูงอายุเอง เพื่อจะได้ใช้ชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา และเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวในการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพได้อย่างทันท่วงที2

บุคคลที่สำคัญในการสื่อสารระหว่างผู้สูงวัยกับชุมชนเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรนั้น คือผู้ประสานงานในชุมชุม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีทักษะในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ โน้มน้าวใจคนในชุมชน และปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นเชิงบวก ผู้ประสานงานนี้ อาจเป็นผู้นำชุมชน หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน ซึ่งควรจะมีความกระตือรือร้น เอาใจใส่ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ผู้ประสานงานเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายและทางใจที่ดีต่อผู้สูงอายุนี้ ยังควรต้องดึงให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบสิ่งแวดล้อมในชุมชนเองด้วย เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นศาลาประชาคม หรืออาคารอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันในการประชุมของชุมชน อันจะถือได้ว่าเป็นการมีส่วนร่วมที่ยั่งยืนแท้จริง3

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและให้บริการสุขภาพอันเป็นมิตร เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย โดยผู้นำชุมชนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชน ควรมีส่วนร่วมในการสร้างสุขภาพที่ดีและมีกิจกรรมการเข้าถึงเพื่อเสริมสุขภาพในชุมชนที่มีโอกาสน้อย และต้องมีศักยภาพในการปรับปรุงการให้บริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพในชุมชน4

สิ่งที่ผู้นำชุมชนควรตระหนักในยามสื่อสารถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงสถานที่ต่าง ๆ กับผู้สูงอายุนั้น คือการเข้าใจประสบการณ์ของผู้สูงอายุอย่างลึกซึ้งและเข้าใจความหมายของการส่งเสริมสุขภาพอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะการให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพของตนเอง ตลอดจนพฤติกรรมสุขภาพที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ด้วย5

กระนั้นก็ดี นโยบายในระดับชุมชนที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมอันเป็นมิตร ยังควรคำนึงถึงปัจจัยทางจิตวิทยาสังคมของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาสด้วย เช่น ควรมีการเยี่ยมบ้าน เพื่อสื่อสารกับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส ให้เข้าใจหลักการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดี การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการคำนึงถึงปัจจัยเชิงจิตวิทยาสังคมของผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยการเยี่ยมบ้านแต่ละครั้งอาจพ่วงไปด้วยกลุ่มคนผู้มีความชำนาญในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในลักษณะต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นอกเหนือจากผู้นำชุมชนในฐานะผู้สื่อสารให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในตัวผู้สูงวัยด้วย6

การเห็นคุณค่าของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อผู้สูงวัยนั้น ก็เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้สูงวัยเอง การสื่อสารระหว่างกันจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเพื่อปรับนิสัยการทิ้งขยะให้ถูกสุขลักษณะ หรือเพื่อจัดระเบียบบ้านเรือน เพราะท้ายสุดแล้ว ชุมชนที่เข้มแข็งคือชุมชนที่สมาชิกทุกคนในชุมชนร่วมมือกันสร้างและจรรโลงให้สิ่งแวดล้อมทั้งชุมชนน่าอยู่และเป็นมิตรต่อทุกวัยและทุกคน

โดยศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566

เอกสารอ้างอิง

  1. Age-Friendly Communities. (2023). Public Health Agency of Canada. https://www.canada.ca/en/public-health/services/health-promotion/aging-seniors/friendly-communities.html
  2. Li, F., Eckstrom, E., Harmer, P., Fitzgerald, K., Voit, J., & Cameron, K. A. (2016). Exercise and fall prevention: narrowing the research‐to‐practice gap and enhancing integration of clinical and community practice. Journal of the American Geriatrics Society, 64(2), 425-431. https://doi.org/10.1111/jgs.13925
  3. Winterton, R., & Hulme Chambers, A. (2017). Developing sustainable social programmes for rural ethnic seniors: perspectives of community stakeholders. Health & Social Care in the Community, 25(3), 868-877. https://doi.org/10.1111/hsc.12373
  4. Swider, S. M. (2002). Outcome effectiveness of community health workers: an integrative literature review. Public health nursing, 19(1), 11-20.
  5. Menichetti, J., & Graffigna, G. (2016). How older citizens engage in their health promotion: a qualitative research-driven taxonomy of experiences and meanings. BMJ open, 6(7), e010402.
  6. Srivarathan, A., Jensen, A. N., & Kristiansen, M. (2019). Community-based interventions to enhance healthy aging in disadvantaged areas: Perceptions of older adults and health care professionals. BMC Health Services Research, 19, 1-9.
Scroll to Top