ตามรายงานของสหประชาชาติ เรื่องการคาดการณ์ประชากรโลกนั้น จำนวนผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีจะเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าภายใน ค.ศ. 2050 หรือจาก 962 ล้านคนทั่วโลกเป็น 2.1 พันล้านคน และอาจจะเพิ่มเป็นสามเท่าในปี 2100 (หรือประมาณ 3.1 พันล้านคน) ที่สำคัญคือกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลก อยู่ในระยะเติบโตอย่างรวดเร็วมากกว่าประชากรในกลุ่มอื่น ๆ1 นัยอย่างหนึ่งที่อาจมองได้จากการคาดการณ์ข้างต้นนี้ คือ การดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุในอนาคตอาจต้องประสบพบเจอกับเทคโนโลยีมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่ากระบวนการชราภาพจะแตกต่างกันไป แต่ทุกคนต่างต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานไม่มากก็น้อย และไม่ใช่ทุกคนที่จะชราภาพลงได้อย่างที่ตนเองคาดหวัง เมื่ออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสรีระย่อมเกิดขึ้น และการรับรู้ทางประสาทสัมผัสก็อาจจะลดน้อยถอยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคนจำนวนมากที่อายุเกิน 60 อาจได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับเทคโนโลยีในวัยผู้ใหญ่มาเกือบทั้งชีวิตแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงทางสรีระอาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลในเชิงเทคโนโลยีการช่วยเหลือ
โดยปกติแล้ว ตั้งแต่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป เลนส์สายตาของคนเราจะเริ่มแข็งตัว ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “สายตายาวตามอายุ” ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอายุ จนทำให้การอ่านข้อความขนาดเล็กและระยะใกล้ทำได้ยากขึ้น การมองเห็นสีสันต่าง ๆ ก็ยังลดลงตามอายุ การแยกแยะความแตกต่างระหว่างสีที่มีเฉดคล้ายกันจะทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฉดสีฟ้าดูเหมือนจะจางลง การได้ยินเสียงของผู้สูงวัยก็ยังลดลงมิต่างกัน และส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มักมีการสูญเสียการได้ยินไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง2 ข้อบกพร่องทางร่างกายข้างต้นที่มาพร้อมกับความชราเหล่านี้ อาจช่วยเหลือให้ดีขึ้นได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ หากเจ้าของผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีต่าง ๆ “ออกแบบ” การใช้งานสินค้าสำหรับผู้สูงอายุโดยคำนึงถึงข้อพึงระวังเกี่ยวกับประสาทสัมผัสของผู้สูงอายุ ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้สูงวัยให้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แน่นอนว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้น การมองเห็นมักจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ผู้สูงอายุจำนวนมากใช้แว่นอ่านหนังสือ หรือเลือกใช้ขนาดตัวอักษรที่ใหญ่กว่ามากหากมีตัวเลือกให้เลือกเพิ่มขนาด โดยปกติแล้วเฉดสีฟ้าจะดูจางจนเกือบมองไม่เห็นสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้ความคมชัดเพื่อเน้นข้อความได้ไม่ดีนัก ฉะนั้นผู้ออกแบบการสื่อสารหน้าจอควรเพิ่มการใช้ของสีในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มุ่งเน้นสำหรับการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ ยิ่งกว่านั้น ขนาดข้อความและปุ่มควรใหญ่ขึ้น โดยพื้นฐานแล้ว อะไรก็ตามที่จำเป็นต้องถูกอ่านหรือถูกคลิก ควรปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้น แบบอักษรควรมีขนาดอย่างน้อย 16 พิกเซลขึ้นไป แบบอักษรในตระกูล Sans serif มักจะเป็นที่นิยมในการใช้ออกแบบข้อความบนเว็บ (สำหรับข้อความในภาษาไทยอาจเป็นฟอนต์ที่หนาขึ้น และไม่มีส่วนโค้งเว้ามากจนเกินไป) เจ้าของเว็บไซต์ควรทดสอบเว็บไซต์หรือแอปด้วยโปรแกรมอ่านหน้าจอทุกครั้ง ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะให้ใช้งานได้จริง3
ไอคอนหรือภาพขนาดเล็ก ควรมีข้อความอธิบายไอคอนให้เห็นชัดเจนทุกครั้ง เพราะจะช่วยเน้นความหมายที่แท้จริงของไอคอนได้ชัดเจนขึ้น ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจำนวนมากมีความชำนาญด้านเทคโนโลยีในระดับเดียวกับคนรุ่นใหม่ แต่ก็ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อความที่ลงในเว็บไซต์การสื่อสาร สามารถอ่านออกและตีความได้ง่าย4 นอกจากนี้ อิริยาบถขณะใช้เครื่องมือสื่อสารก็อาจสร้างปัญหาระหว่างใช้งานสื่อต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะในบางคนที่เพิ่งสัมผัสกับเทคโนโลยีหน้าจอสัมผัสเป็นครั้งแรก รูปแบบการใช้งานสำหรับคนรุ่นใหม่ เช่น การพิมพ์ด้วยมือข้างเดียวในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา อาจไม่เหมาะสมกับผู้สูงวัยเท่าใดนัก
เมื่อเราจำเป็นที่จะต้องออกแบบด้านเทคโนโลยีการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ควรพยายามนึกถึงสิ่งที่ทำได้โดยง่าย ละเว้นขั้นตอนการใช้งานที่ซับซ้อน เน้นการเคลื่อนไหวในแนวนอน แนวตั้ง หรือแนวทแยง เนื่องจากเป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติแบบปกติ แต่ให้เลี่ยงการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วพร้อม ๆ กัน เช่น การหมุน การตวัดนิ้ว การเขย่า หรือการต้องใช้มือทั้งสองข้างหรือมากกว่าสองนิ้ว เพราะอาจทำให้ผู้สูงวัยที่ไม่ชำนาญด้านเทคโนโลยีรู้สึกหงุดหงิด และไม่สนุกกับการรับสารที่สื่อออกมาตามเครื่องมือสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้ได้5
โดยสรุป สิ่งที่นักออกแบบพึงตระหนึก คือ6
- เลี่ยงขนาดตัวอักษรที่เล็กกว่า 16 พิกเซล ซึ่งขึ้นอยู่กับอุปกรณ์สื่อสาร ระยะการมอง ความสูงของบรรทัด เป็นต้น
- ออกแบบหน้าจอให้ผู้ใช้งานสามารถปรับขนาดข้อความได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ผู้สูงอายุเลือกได้ตามความถนัด
- ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับอัตราส่วนภาพกับข้อความ เพื่อทำให้หน้าจอมีการแยกแยะได้ดีขึ้น
- เลี่ยงสีน้ำเงินสำหรับองค์ประกอบที่ต้องใช้การแตะสัมผัสหน้าจอ เพื่อมิให้เกิดการผิดพลาดในการใช้งาน
- ทดสอบผลิตภัณฑ์ของตนเองอย่างสม่ำเสมอกับกลุ่มผู้สูงวัย เพื่อปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
- ใส่คำบรรยายใต้ภาพ เมื่อเนื้อหาวิดีโอคลิป หรือไฟล์เสียง มีความสำคัญอย่างสูงในการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุที่โสตประสาททำงานได้ไม่ดี
หากผู้ที่ออกแบบเทคโนโลยีการสื่อสาร ได้คำนึงถึงวิธีออกแบบข้างต้นสำหรับผู้สูงวัย การสื่อสารที่เป็นช่องทางในการให้ความรู้ต่าง ๆ หรือเป็นช่องทางในการเชื่อมผู้สูงวัยกับคนต่างวัย ก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะไม่มีอุปสรรคจากการออกแบบมากีดขวางให้ต้องเสียโอกาสต่าง ๆ อีกต่อไป
โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 6 ธันวาคม 2565
เอกสารอ้างอิง
- World population prospects: The 2017 revision. https://www.un.org/development/desa/publications/world-population-prospects-the-2017-revision.html
- National Institute on Deafness and Other Communication Disorders. (2022). Age-related hearing loss. https://www.nidcd.nih.gov/health/hearing/Pages/Age-Related-Hearing-Loss.aspx
- Tennant, D. B. (2011). 16 pixels font size: For body copy. Anything less is a costly mistake. https://www.smashingmagazine.com/2011/10/16-pixels-body-copy-anything-less-costly-mistake/
- DeVos, J. (n.d.). Designing for readability: A guide to web topography (with Infographic). Designers. https://www.toptal.com/designers/typography/web-typography-infographic
- Polyuk, S. (n.d.). Age before beauty – A guide to interface design for older adults. Designers. https://www.toptal.com/designers/ui/ui-design-for-older-adults
- Campbell, O. (2015). Designing for the elderly: Ways older people use digital technology differently. https://www.smashingmagazine.com/2015/02/designing-digital-technology-for-the-elderly/