ในบทความที่แล้วเราได้พูดถึงพฤติกรรมการรับชมโทรทัศน์และการใช้สื่อออนไลน์ของผู้สูงอายุกันไปแล้ว ในคราวนี้จะขอเจาะลงไปที่เนื้อหาบางรายการที่ผู้สูงอายุนิยมรับชมเป็นอย่างมาก ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากละครโทรทัศน์
หากไม่นับรายการเกมโชว์และวาไรตี้ที่ครองใจกลุ่ม สว. (สูงวัย) มาได้อย่างเหนียวแน่น ละครโทรทัศน์ถือว่าเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ที่ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องอยู่เสมอมาในหมู่ผู้สูงอายุ ลองนึกภาพว่าคุณเป็นผู้สูงอายุซึ่งอยู่ติดบ้านและไม่มีกิจกรรมอื่น การเปิดโทรทัศน์แก้เหงาเพื่อไม่ให้บ้านเงียบเป็นสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็นละครโทรทัศน์ทั้งเก่าและใหม่จะสลับสับเปลี่ยนกันออกอากาศแทบจะตลอดทั้งวัน เช่นช่องที่ฉายละครโทรทัศน์เป็นหลักอย่างช่อง 3 และช่อง 7 จะมีช่วงเวลาของละครโทรทัศน์ตั้งแต่ละครเก่ารีรันรอบเช้า ละครเก่ารีรันรอบบ่าย ละครเย็น ละครหลังข่าว และละครรอบดึก แม้จะมีรายการปกิณกะบันเทิงและข่าวมาคั่นกลางเป็นระยะ แต่ละครโทรทัศน์แทบจะหมุนเวียนอยู่ตลอดทั้งวันเรียกว่าเปิดโทรทัศน์มาตอนไหนก็ต้องได้ดูละคร จริงอยู่ว่าช่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีจุดขายด้านละครพยายามผลิตรายการวาไรตี้มาเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ชมที่ไม่ชอบดูละคร เช่น ช่องวัน ช่องเวิร์คพอยท์ หรือช่องไทยรัฐทีวีที่เน้นรายการเกมโชว์และข่าว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ละครโทรทัศน์ก็ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้สูงวัย โดยจะถือว่าเป็นกลุ่มผู้ชมหลักของละครโทรทัศน์ในปัจจุบันนี้เลยก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าละครทุกประเภทจะโดนใจกลุ่มสว. ละครที่มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ศีลธรรมหรือมีความรุนแรงมากเกินไปอาจไม่ถูกจริตผู้สูงอายุบางกลุ่ม รวมถึงละครวัยรุ่น หรือบู๊แอคชั่นล้างผลาญอาจจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก ละครที่สร้างความสุข เสียงหัวเราะและร้อยยิ้ม หรือเรียกได้ว่าดูได้ทุกเพศทุกวัยจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เช่นละครตลกเบาสมอง ละครรักที่เรียกว่าโรแมนติกคอมมาดี้ ละครแนวดราม่าที่เน้นความสะเทือนอารมณ์ที่มักเรียกกันว่าละครน้ำเน่า หรือว่าจะเป็นละครน้ำดีแนวครอบครัวที่เรียกว่าละครฟีลกู้ดเพราะดูแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่นหัวใจ ฯลฯ เหล่านี้เป็นตัวเลือกที่ผู้สูงอายุมักจะเลือกรับชม1 สิ่งสำคัญคือโครงเรื่องที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน และด้วยความที่คนกลุ่มนี้เติบโตมากับการชมการแสดงอย่างโขนหรือลิเกก็จะทำให้ติดอยู่ในขนบของการวางตัวละครแบบมีตัวพระ ตัวนาง ยักษ์/ตัวร้าย และลิง/ตัวตลก เป็นต้น สิ่งนี้อาจอธิบายได้ว่าทำไมละครไทย (ซึ่งก็ดำเนินรอยตามภาพยนตร์ไทย) จึงต้องแบ่งตัวละครออกเป็นตัวดีและตัวร้ายอย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้โดยง่าย นั่นเป็นเพราะผู้ชมเคยชินกับขนบการรับชมแบบนี้นั่นเอง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือละครจะต้องดำเนินไปสู่ตอนจบที่คลี่คลายแบบที่เรียกว่าแฮ้ปปี้เอนดิ้ง (happy ending) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือตัวร้ายต้องได้รับผลกรรม (ไม่ตายก็เสียสติ) ตัวดีต้องได้รับรางวัลตอบแทนความดี (ไม่ว่าจะในรูปแบบของมรดกพันล้านหรือการได้แต่งงาน) และไม่ว่าระหว่างกลางของเนื้อเรื่องจะมีความวุ่นวายสับสนเกิดขึ้นมากแค่ไหน ท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างจะต้องกลับสู่ภาวะปกติสุขในตอนจบ2 เป็นการบอกใบ้ให้กับคนดูว่าสังคมเราจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเช่นนั้น ละครที่ไม่ได้เดินไปตามขนบลักษณะนี้ย่อมไม่เป็นที่นิยมเพราะจะทำให้คนดูรู้สึกไม่สบายใจ กล่าวอีกอย่างละครโทรทัศน์ก็คือการจำลองภาพสังคมไทยในแบบอุดมคติในรูปแบบที่พัฒนามาจากพล็อตเรื่องของโขนและลิเก ลักษณะของละครโทรทัศน์ไทยแบบนี้เป็นเสมือนดาบสองคมเพราะในด้านหนึ่งมันไม่จูงใจผู้ชมส่วนใหญ่อีกต่อไปโดยเฉพาะเมื่อละครโทรทัศน์มีคู่แข่งใหม่อย่าง Netflix, HBO, Disney+, Amazon Prime และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่จะให้ผู้ผลิตละครลุกขึ้นมาทำละครล้ำ ๆ หรือแหวกแนวมากก็ไม่ได้เพราะจะเสียฐานผู้ชมที่เหนียวแน่นอย่างผู้สูงอายุไป และยังไม่นับปัญหาของกระบวนการควบคุมเนื้อหาของช่องและสถานีโทรทัศน์ในไทยที่ทำให้การผลิตเนื้อหาแนวใหม่ ๆ ไม่สามารถทำได้อย่างคล่องตัว
ยกตัวอย่างละครที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้สูงวัย แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ละครแนวชีวิตในชนบทบ้านนามีบรรยากาศท้องทุ่ง สร้างเมื่อไหร่ก็เป็นที่นิยมเมื่อนั้น ละครแนวนี้มักจะถูกใจผู้ชมที่อยู่ต่างจังหวัดเพราะว่าดูแล้วก็จะรู้สึกอินหรือมีอารมณ์ร่วม ได้เห็นบรรยากาศที่คุ้นเคย ยิ่งถ้ามีเพลงประกอบเพราะ ๆ หรือเป็นละครเพลงด้วยแล้วก็ยิ่งได้รับความนิยม เช่น มนต์รักลูกทุ่ง มนต์รักหนองผักกะแยง เทพธิดาปลาร้า สะใภ้ไร้ศักดินา หมอลำซัมเมอร์ ฯลฯ ละครพวกนี้เรียกได้ว่าตอนที่ฉายนั้นฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ติดงอมแงม เพลงประกอบละครกลายเป็นเพลงยอดนิยมต่อเนื่องและนักแสดงหลักต้องเดินสายร้องเพลงทั่วประเทศไม่ได้หยุดหย่อน ส่วนละครพีเรียดหรือละครย้อนยุคก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยเฉพาะละครที่ย้อนไปสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์นั้นเรียกได้ว่าเป็นพล็อตสุดแสนจะคลาสสิคของละครไทย ละครพวกนี้นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่ตื่นเต้นเร้าใจหรือสะเทือนอารมณ์แล้ว สิ่งสำคัญก็คือการได้ย้อนอดีตไปสู่ยุคที่บ้านเมืองยังดียังงาม วัฒนธรรมยังมีความรุ่งเรือง ค่านิยมไทย ๆ แบบเก่ายังคงมีความสำคัญอยู่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายแบบไทยโบราณที่งดงามรวมถึงบ้านเรือนและฉากของละครก็สวยงามดูแล้วให้ความรู้สึกเพลิดเพลินและประทับใจ ละครพีเรียดจึงไม่เคยหายไปจากช่องโทรทัศน์แต่จะกลับมาวนเวียนทุกปี ยกตัวอย่างเช่นละครพีเรียดฟอร์มยักษ์อย่างสี่แผ่นดินที่โปรดักชั่นอลังการ ละครพีเรียดเบาสมองที่ดูแล้วชุ่มชื่นหัวใจอย่างบุพเพสันนิวาสหรือทองเอกหมายาท่าโฉลงที่ไม่ใช่ย้อนยุคอย่างเดียวแต่ยังมีความโรแมนติกคอมมาดี้ เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูดี หรือว่าจะเป็นรักแลกภพ ปลายจวัก ละครย้อนยุคน้ำดีที่ไม่มีตบตีอิจฉาริษยาแต่เน้นความสวยงามของอดีตให้ดูกันเพลิน ๆ
ละครอีกแนวที่เป็นที่นิยมตลอดกาลก็คือละครแนวโรแมนติกคอมมาดี้หรือรักผสมตลก ผู้สูงอายุนิยมดูละครแนวนี้เพราะไม่เครียด เรียกเสียงหัวเราะได้ และยังเป็นละครที่สามารถดูพร้อมกันกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้อีกด้วย ไม่ว่าจะลูกหลานหรือปู่ย่าตายายก็สามารถใช้เวลาร่วมกันได้ สถานีโทรทัศน์จึงมักจะจัดละครแนวนี้ไว้ในช่วงไพร์ไทม์ (20.00-22.00 น.) โดยเฉพาะในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ อย่างเช่นเรื่อง ชั่วโมงต้องมนต์ ปัญญาชนก้นครัว แก้วกลางดง รักเกิดในตลาดสด ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาของละครเหล่านี้ก็มักจะเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว ปัญหาความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างคนในช่วงวัยต่าง ๆ ซึ่งแม้จะเริ่มต้นด้วยความขัดแย้งแต่ท้ายที่สุดก็จะจบลงที่ครอบครัวสุขสันต์ ทุกคนอยู่กันอย่างเป็นสุข และถ้าละครเรื่องไหนมีผู้สูงอายุเป็นตัวละครหลักหรือมีมิติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุก็จะยิ่งได้รับความนิยม อย่างเช่นละครเรื่องริมฝั่งน้ำซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้สูงอายุใน Nursing Home หรือบ้านพักคนชรา เป็นละครที่ถ่ายทอดแง่มุมของผู้สูงอายุได้อย่างเข้าอกเข้าใจ ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจความคิดความรู้สึกของผู้สูงอายุมากขึ้น และในแง่ของความเป็นละครแล้วก็ถือว่าเป็นละครที่รวมดาราอาวุโสทั่วฟ้าเมืองไทยมาไว้ด้วยกัน ผู้สูงอายุที่ได้ดูก็จะรู้สึกว่าได้ติดตามดาราที่ตนเองรู้จักและเติบโตมาด้วยกันตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น
นอกเหนือจากละครเหล่านี้ แนวแอ็คชั่นที่ไม่ได้เน้นฉากต่อสู้รุนแรงโหดร้ายเกินไปก็เป็นที่นิยมด้วยเช่นกัน เช่น เขาวานให้หนูเป็นสายลับ อังกอร์ คมแฝก ในขณะที่ละครแนวดราม่าหรือว่าละครที่เน้นความสะเทือนอารมณ์ถ้ามีเนื้อเรื่องที่สนุกสนานชวนติดตาม หรือมีบางอย่างที่ผู้ชมสามารถดูแล้วอินตามได้ง่าย ก็จะได้รับความนิยมในวงกว้าง ยกตัวอย่างละครที่มักเรียกกันติดตลกว่าละครจักรวาลนครสวรรค์เพราะมีเนื้อเรื่องเกิดที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์และตัวละครมีความเกี่ยวโยงกันเหมือนจักรวาลมาร์เวล อย่างเช่นเรื่อง ชิงชัง สุดแค้นแสนรัก กรงกรรม ทุ่งเสน่หา ละครเหล่านี้มีส่วนผสมของความเป็นละครพีเรียดย้อนยุคและละครชีวิต แต่ไม่ได้ย้อนไปไกลถึงอยุธยา แค่ย้อนไปประมาณ 40-50 ปีก่อนช่วงที่ผู้สูงอายุยังเป็นเด็ก เวลาดูก็จะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปตอนที่ตัวเองยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เรียกว่านอกจากจะอินกับเนื้อเรื่องที่เข้มข้นและบทที่เชือดเฉือนแล้วก็ยังได้เสพบรรยากาศและหวนรำลึกถึงอดีตของตัวเองไปด้วย
ผู้สูงอายุและการดูละครออนไลน์
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน โทรทัศน์ไม่ใช่อุปกรณ์เพียงชนิดเดียวที่ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่ด้วยในแต่ละวัน โทรศัพท์มือถือกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ สถานีและผู้ผลิตละครโทรทัศน์บางส่วนก็ผันตัวเองมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์เพื่อเจาะกลุ่มตลาดใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน ผู้สูงอายุเองก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีเพียงแต่การรับชมละครทั้งเรื่องผ่านมือถือหรือแท็บเล็ตนั้นออกจะเป็นเรื่องที่ทรมานสายตาจนเกินไป แต่ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่นิยมดูละครเต็มเรื่องทางโทรศัพท์มือถือหรือแท็ปเล็ตแต่ก็มีละครประเภทหนึ่งที่นิยมดูผ่านโทรศัพท์มือถือนั่นก็คือละครสั้นหรือที่เรียกกันว่าละครคุณธรรม ละครลักษณะนี้จะมาในรูปแบบของคลิปสั้นประมาณไม่เกิน 10 นาที เนื้อหาเข้าใจง่าย มีคติสอนใจและให้ข้อคิด แม้ว่าสำหรับผู้ชมทั่วไปแล้วจะรู้สึกว่าเป็นการถ่ายทำด้วยต้นทุนและมาตรฐานที่ต่ำ แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้คิดเช่นนั้นเพราะเป็นวีดีโอที่ใช้เวลาดูไม่นาน เพลิดเพลิน และได้ข้อคิด ซึ่งอันที่จริงแล้วละครคุณธรรมที่เป็นคลิปสั้นเหล่านี้ก็พัฒนามาจากละครสั้นที่ฉายทางโทรทัศน์เพื่อให้ข้อคิดและคติสอนใจทางพุทธศาสนา เช่นรายการละครฟ้ามีตา ละครธรรมนำชีวิต เป็นต้น เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นคลิปวีดีโอขนาดสั้นเพื่อให้ดูทางโทรศัพท์มือถือได้เท่านั้น แต่เนื้อเรื่องและข้อคิดก็ยังตรงกับคำสอนของพุทธศาสนาอยู่เช่นเดิม จึงเป็นสาเหตุที่ละครเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมากนั่นเอง3, 4
สุดท้ายแล้วการรับชมรายการอะไรสักอย่างหนึ่งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าตรงกับจริตและความชอบของผู้ชมมากแค่ไหน ในภาวะที่สื่อใหม่ ๆ เข้ามาเบียดบังความนิยมของรายการโทรทัศน์ทำให้ผู้ชมจำนวนมากถอยห่างออกจากการรับชมรายการโทรทัศน์โดยเฉพาะการรับชมจากเครื่องเล่นโทรทัศน์ที่ดูจะเป็นกิจกรรมที่ห่างไกลจากชีวิตคนรุ่นใหม่ออกไปทุกที ผู้สูงอายุคือฐานผู้ชมกลุ่มใหญ่ที่ยังคงติดตามดูรายการและละครโทรทัศน์อยู่อย่างเหนียวแน่น เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ผู้ผลิตรายการจะต้องคอยรักษาเอาไว้ให้ได้ต่อไป สำหรับตัวผู้สูงอายุเองนั้นก็ต้องพึงระลึกเสมอว่าการใช้เวลาอยู่หน้าจอทั้งจอโทรทัศน์และจอโทรศัพท์ทั้งวันทั้งคืนย่อมไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ทั้งความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และร่างกายที่ไม่แข็งแรง และยังไม่นับภัยร้ายที่แฝงมากับรายการโทรทัศน์อย่างการหลอกขายสินค้าลดราคา สินค้าไม่ได้คุณภาพ สินค้าหลอกลวงผู้บริโภคและอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนลูกหลานและคนรุ่นใหม่ทั้งหลายก็ไม่ควรจะปฏิบัติกับผู้สูงอายุเหมือนโทรทัศน์คือมองเป็นของตกยุคตกสมัย แต่ควรเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และใช้เวลาร่วมกันให้มากขึ้น
โดย อาจารย์ ดร. กิตติยา มูลสาร
ศูนย์บูรณาการมนุษยาภิวัตน์ คณะมนุษยศาสตร์
ภาพ : https://www.jindamanee.co.th และ https://www.polygon.com
รายการอ้างอิง
- สุรินทร์ เมทะนี. (2562). การเขียนบทละเครเวทีสำหรับผู้สูงอายุ. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 21(2), 42-54. https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jica/article/view/153880
- Vichit-Vadakan, J. (2003). Thai Movies as Symbolic Representation of Thai Life. Aséanie, Sciences humaines en Asie du Sud-Est, 12(1), 157-169.
- INN News. (2564). ละครคุณธรรม สรุปแล้วให้ข้อคิดสอนใจหรือซ้ำเติม? https://today.line.me/th/v2/article/Opo3JLD
- Putnark. V. (2564). วิเคราะห์ละคร ‘พลอย ชิดจันทร์’ ด้วยทฤษฎีวรรณกรรม ละครคุณธรรมกำลังบอกอะไรเรา? https://thematter.co/social/thai-moral-fable-theory/161127