สูงวัยยุคใหม่ใช้สื่อได้ ประยุกต์สื่อเป็น พร้อมต่อยอดความสร้างสรรค์ สร้างคุณค่าและรายได้ให้แก่ตนเอง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปเสียแล้ว ทั้งในการติดตามข้อมูลข่าวสาร พูดคุยสร้างความสัมพันธ์ แบ่งปันประสบการณ์ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้เรื่องอุปโภคและบริโภค อย่างการซื้อและจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ รวมไปถึงวงการและอุตสาหกรรมมากมาย เช่น วงการแพทย์ การขนส่ง หรือการเงินการธนาคาร ซึ่งทำให้ทุกคนจำเป็นต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่เป็นผู้ที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่เพื่อความอยู่รอดในสังคมโลกและการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า จึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักและเข้าถึงการสื่อสารผ่านสื่อดิจิทัลหรือสื่อออนไลน์มากขึ้น อย่างที่เราทราบกันดีว่าสื่อออนไลน์สำคัญต่อการใช้ชีวิตอย่างยิ่งในสมัยนี้ และผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในช่วงวัยที่บริโภคสื่อออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติการใช้สื่อออนไลน์ในกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงวัยในแต่ละปีมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก แต่จากการสำรวจจากงานวิจัยและตามรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ หรือจากการติดตามข่าวสาร จะพบว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่นั้นยังขาดทักษะในการใช้สื่อ รวมทั้งทักษะการนำไปประยุกต์และการนำไปต่อยอดสร้างเนื้อหาที่สามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึง และเพื่อสร้างรายได้ทางออนไลน์ในอนาคต

เช่นเดียวกับการรู้เท่าทันสื่อที่เป็นสถานการณ์ที่ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญ จนมีหลายภาคส่วนพยายามที่จะสร้างเครื่องมือป้องกันภัยจากสื่อ โดยเพิ่มพูนทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับผู้สูงอายุจากการสร้างหลักสูตรอบรมทั้งแบบ on-site และแบบ online ซึ่งจากการร่วมมือกันจากทุก ๆ คน ส่งผลให้การขับเคลื่อนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อในผู้สูงอายุนั้นเป็นไปในทิศทางที่ดีและเห็นผลอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นวัยแห่งพฤฒพลัง (Active Aging) ซึ่งหมายถึง ผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะสมบูรณ์ มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความคล่องแคล่วว่องไว รู้จักและเห็นคุณค่าในตนเอง และไม่เพียงแต่ดูแลตนเองได้แต่ยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่น แนะนำและส่งต่อความรู้ ความสามารถให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย1 เพราะฉะนั้นแล้ว ผู้สูงอายุยุคใหม่จึงไม่เพียงแต่จะต้องรู้ เข้าใจ และเท่าทันสื่อเพียงเท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้ที่สามารถใช้สื่อไปสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น รวมถึงสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อหรือสร้างเนื้อหา (Content) ที่ผู้คนจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตลอดไปจนสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย

ทั้งนี้ได้มีหน่วยงาน องค์กร หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผู้สร้างเนื้อหาออนไลน์ ที่ตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้ จึงได้จัดทำหลักสูตรอบรมที่เน้นสร้างผู้สูงอายุให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จะสามารถนำไปต่อยอดใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ หรือกลายเป็นผู้ผลิตสื่อที่สามารถสร้างรายได้ และสร้างอาชีพใหม่ให้แก่ตนเองยามวัยเกษียณได้อีกด้วย จากนี้จะขอยกตัวอย่างหลักสูตรการอบรมทั้งในรูปแบบ on-site และ รูปแบบ online รวมไปถึงช่องทางให้ผู้สูงอายุได้ Reskill และ Upskill ผ่านสื่อออนไลน์ ดังนี้

หลักสูตรภายใต้แนวคิด “สื่อเปลี่ยน ผู้สูงอายุปรับ ผลิตสื่อได้ ใช้สื่อเป็น เห็นค่าในตนเอง สร้างประโยชน์ให้กับสังคม” ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้ต่อยอดโครงการ “สูงวัยหัวใจยังเวิร์ก” เป็นปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น ในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิต ซึ่งเมื่อผ่านการอบรมแล้วผู้สูงอายุจะสามารถผลิตสื่อได้ และนำความรู้ ประสบการณ์ของตนเองมาถ่ายทอด แบ่งปันความรู้ที่มีให้ผู้อื่น และทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นจากการสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ผ่านการทำกิจกรรมอบรมทักษะการผลิตสื่อดิจิทัลในรูปแบบของการอบรมออนไลน์ 3 วัน กับ 3 วิชา ได้แก่ D101: Yold Creater: นักผลิตสื่อวัยเก๋า เล่าเรื่อง, ถ่ายทำ, ตัดต่อด้วยโทรศัพท์มือถือ: D102: Yold Storyteller: นักเล่าเรื่องออนไลน์วัยเก่า สื่อสารออนไลน์, เขียนบล็อก, เขียนบท เล่าเรื่องง่าย ๆ ให้ทรงพลัง และ D103: Yold Digital Literacy: วัยเก๋ารู้เท่าทันสื่อดิจิทัล รู้ทันสื่อ ข่าวลือ ข่าวลวง ไม่เชื่อ ไม่ส่งต่อ ซึ่งผลตอบรับจากโครงการนี้สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุนั้นให้ความสนใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก และพร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันการสื่อสารแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ2

หลักสูตร “Social Media สำหรับผู้สูงวัย” เป็นหลักสูตรออนไลน์หลักสูตรใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับสังคมสูงวัยซึ่งจะเป็นประชากรในกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดของสังคมไทยในอนาคต โดยทักษะทางด้านดิจิทัล (Digital Literacy) มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนในยุคของสังคมแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารเช่นปัจจุบัน ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ ผู้สูงวัยที่เข้ารับการอบรมรายวิชาออนไลน์ “Social Media สำหรับผู้สูงวัย” จัดโดย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook, Line, Twitter, Instagram, Google Map, YouTube ฯลฯ ให้เกิดประโยชน์ ด้วยความระมัดระวัง รู้เท่าทัน และรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะสามารถใช้ต่อยอดเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัยได้ต่อไปในอนาคต โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับ E-Certificate จากมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อผ่านการอบรมตามเกณฑ์ที่กำหนด3

โรงเรียนผู้สูงอายุดิจิทัล “เกษียณมีดี” (MEDEE Digital School) เป็นรูปแบบโรงเรียนออนไลน์ด้วยระบบการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรออนไลน์ผ่านระบบ CMU MOOC ระบบการออกประกาศนียบัตร การผ่านการเรียนรู้ และระบบการเก็บประวัติการเรียน (e-portfolio) ของผู้เรียน โดยแต่ละหลักสูตรสอนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการ ทั้งคนรุ่นใหม่และผู้สูงวัยที่มีประสบการณ์ ประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย โดยเนื้อหาในหลักสูตรออนไลน์ครอบคลุมตั้งแต่สอนการใช้สื่อและเทคโนโลยี ไปจนถึงการผลิตสื่อ การต่อยอดทางการตลาด และการสร้างอาชีพในสังคมยุคใหม่ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น การถ่ายภาพและวิดีโอด้วยมือถือเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และการบริการ การออกแบบสื่อเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วยแอปพลิเคชันบนมือถือ กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด และ การตลาดแบบรู้ใจ งานยุคใหม่ของผู้สูงวัยและแรงบันดาลใจธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้า หรือการสอนทักษะอาชีพ ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) แบบออนไลน์4

หลักสูตร “เกษียณคลาส” โดยยังแฮปปี้ กิจการเพื่อสังคมที่เป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุผ่านระบบดิจิทัล และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือกันจัดทำหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ (E-learning) ที่ชื่อว่า “เกษียณคลาส” ในคอนเซปต์ บทเรียนสำหรับวัยเกษียณที่จะเปลี่ยนชีวิตให้แฮปปี้ โดย “เกษียณคลาส” คือหลักสูตรเรียนออนไลน์ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เนื้อหาในบทเรียนเป็นการนำองค์ความรู้ มาผสานเข้ากับประสบการณ์จริงจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เนื้อหาในบทเรียนครอบคลุมทุกส่วนที่ผู้สูงอายุต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้ ไม่ว่าจะเป็น หลักการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ การออกกำลังกาย การกินอาหารเพื่อสุขภาพ การใช้เทคโนโลยี การทำงานจิตอาสา หลักธรรมในการดำเนินชีวิต กฎหมาย การเงิน การทำเกษตร สอนร้องเพลง และบทเรียนอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมทั้งสิ้นกว่า 15 บทเรียน ด้วยการนำเสนอที่สนุก เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง พร้อมทั้งมีแบบทดสอบประเมินความรู้ และได้รับประกาศนียบัตรรับรอง เมื่อเรียนรู้ครบทุกบทเรียนอีกด้วย เพื่อให้ผู้สูงอายุเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างมีความสุข5

หลักสูตร “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำโครงการ “เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง” เพื่อสนับสนุนการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทย โดยคนเกษียณหรือผู้สูงอายุควรได้รับโอกาสและสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและพัฒนาศักยภาพในการทำงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในภาครัฐและภาคเอกชน หรือความต้องการในการทำงานให้ได้มีโอกาสเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ให้คนเกษียณสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่เป็นภาระในการดูแลของครอบครัวหรือภาครัฐ สำหรับคนเกษียณที่ดูแลตัวเองได้ สามารถทำงานได้ และมีทักษะเฉพาะทางที่ต้องใช้ประสบการณ์สูงในการทำงานโดยเฉพาะด้าน เพื่อให้ผู้เกษียณได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นถัดไป เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยได้ออกแบบหลักสูตรฟรีสำหรับผู้สูงอายุ มากกว่า 100 หลักสูตร ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เรียนง่าย เข้าใจง่าย โดยมีหลักสูตร ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ หรือการพัฒนาทักษะเพื่อส่งเสริมให้มีอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ในวัยเกษียณ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผ่านการเรียนการสอนแบบง่าย ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด6

            จาก 5 หลักสูตรที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างเครื่องมือที่จะสามารถช่วยการขับเคลื่อนผู้สูงอายุให้ก้าวสู่ภาวะ    พฤฒพลังอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น นั่นคือ การที่ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่มีคุณภาพ สามารถสร้างคุณค่าให้แก่ตนและผู้อื่นได้ จากการปรับตัวให้ทันยุค ทันสมัย และทันความเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของสื่อและเทคโนโลยีที่ไม่อาจจะปฏิเสธการเข้าถึงได้ ดังนั้น ผู้สูงอายุยุคใหม่จึงต้องเป็นผู้ที่รู้เท่าทันข้อมูล ข่าวสาร สื่อดิจิทัล และสื่อออนไลน์ รวมไปถึงสามารถนำสื่อเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้และต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้อีกด้วย

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566

รายการอ้างอิง

  1. Wongsawat, S. (2016). A development of aging people to become active aging. Journal of Mental Health of Thailand, 24(3), 202-207.
  2. เดลินิวส์ออนไลน์. (9 พฤศจิกายน 2566). กองทุนสื่อ มอบประกาศนียบัตร ครีเอเตอร์รุ่นเก๋า พร้อม Digital Buddy จากโครงการสูงวัยหัวใจยังเวิร์ก ปี2. https://www.dailynews.co.th/news/2883183/
  3. ฐิติรัตน์ เดชพรหม. (2564). อบรมออนไลน์ “Social Media สำหรับผู้สูงวัย” สร้าง content – สร้างรายได้. https://www.nstda.or.th/sci2pub/social-media-for-aging/
  4. เกษียณมีดี วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2566). โรงเรียนดิจิทัลเกษียณมีดี. https://www.lifelong.cmu.ac.th/medee/course
  5. YoungHappyNews. (8 เมษายน 2564). ยังแฮปปี้ และ สสส. เปิดตัวหลักสูตร ‘เกษียณคลาส’ บทเรียนออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ ที่สนุก เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง. https://younghappy.com/blog/new/senior-class
  6. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.). (2566). เปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง. https://elderhub.nrct.go.th/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3/
Scroll to Top