ผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงต่อสภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่วัยชราผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยเกิดความเครียด วิตกกังวล ทั้งในด้านความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพ สถานะทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตไม่แพ้คนในวัยทำงานและวัยรุ่น จึงมีการใช้วิธีบรรณบำบัด (Bibliotherapy) มาช่วยเสริม แต่เนื่องจากหนังสือแบบเล่มมีข้อจำกัดหลายประการ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยผู้สูงอายุอ่านหนังสืออย่างหนังสือเสียงจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และเริ่มมีงานวิจัยมารองรับแล้วด้วย
บรรณบำบัด: ข้อดีและข้อจำกัด
ในต่างประเทศ หนึ่งในวิธีที่แพทย์นำมาใช้ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตคือบรรณบำบัด (Bibliotherapy) ด้วยการมอบหมายให้คนไข้อ่านหนังสือร่วมกับใช้วิธีการบำบัดอื่น ๆ ควบคู่
วิธีการดั้งเดิมของบรรณบำบัดในผู้ป่วยสุขภาพจิตที่มีผลการวิจัยรองรับในเบื้องต้นแล้วว่าได้ผล คือ การให้คนไข้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพจิตในระดับเบื้องต้นและระดับกลางอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้องโดยให้แพทย์ประจำตัวเป็นผู้คัดเลือก การอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพจิตช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับสภาวการณ์ปัจจุบันและปฏิบัติตนได้ถูกต้อง อีกทั้งยังให้ความร่วมมือในการรักษามากขึ้น แต่ทีมวิจัยโครงการ HANDI เน้นย้ำว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลเฉพาะผู้ป่วยที่มีความคิดเชิงบวกในการช่วยเหลือตนเอง ซึ่งแพทย์กำหนดหนังสือโดยมีการควบคุมค่าใช้จ่าย และรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา1
สำหรับวิธีการแบบใหม่ที่ผ่านการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างในประเทศอิหร่านมาแล้ว แพทย์ได้ให้ผู้ป่วยสูงอายุฟังหนังสือเสียงที่เลือกเองจากแนวเนื้อหาที่สนใจ งานวิจัยของอเมรีและคณะ พบว่าผู้ป่วยเลือกแนวเนื้อหาที่หลากหลาย ทั้งสารคดีและบันเทิงคดี เช่น หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ คัมภีร์อัลกุรอาน หนังสือฮาวทู งานวิจัยยังพบว่า ผู้ป่วยสูงอายุสุขภาพจิตดีขึ้นระหว่างการรักษา ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ หนังสือเสียงยังช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงความรู้ในหมู่ผู้ป่วยสูงอายุที่อ่านหนังสือไม่ออกและมีปัญหาสายตาร่วมกับปัญหาสุขภาพจิต2
อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวมีข้อจำกัดตรงที่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยสุขภาพจิตที่มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้เท่านั้น คือ อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล โรคกลัวขั้นรุนแรงหรือโฟเบีย อาการหวาดระแวงจากความวิตกกังวล พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โรคขาดความยับยั้งชั่งใจ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องพบแพทย์ร่วมด้วยตลอดการบำบัด ซึ่งตรงกับงานวิจัยของมาร์สในปี ค.ศ. 1995 ที่ระบุว่าบรรณบำบัดใช้ได้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาความกังวลและต้องการความมั่นใจ แต่ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการน้ำหนักลดหรือมีปัญหาเรื่องสมาธิ3
จากการอ่านสู่การฟังและดู: วัฒนธรรมการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไป
ในปัจจุบัน วัฒนธรรมการบริโภคหนังสือเปลี่ยนไปจากเดิม คนอ่านหนังสือน้อยลงเพราะสิ่งที่เรียกว่า ปรากฏการณ์ Digital distraction คือการที่คนหันไปสนใจเสพสื่อดิจิทัลมากกว่าหนังสือแบบเล่ม ดังนั้น อีบุ๊ก (Ebook) และหนังสือเสียง (Audiobook) จึงตอบโจทย์วิถีชีวิตที่ใช้เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกด้านการอ่านและการฟังหนังสือ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เว็บไซต์ BLT Bangkok รายงานว่าคนส่วนใหญ่ยังนิยมไปซื้อหนังสือแบบเล่มถึงร้อยละ 47 ในขณะอีบุ๊กมีผู้ซื้อเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ส่วนหนังสือเสียงยังไม่มีผลการสำรวจ4
กระนั้นความนิยมในการเลือกสื่อหนังสือแต่ละประเภทไม่มีผลสำคัญมากเท่าการเลือกใช้ให้เหมาะกับผู้สูงอายุ เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวยังชี้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่อ่านหนังสือน้อยที่สุด เฉลี่ยเพียงวันละ 47 นาที ต่างจากกลุ่มวัยรุ่นที่อ่านมากที่สุดถึงวันละ 109 นาที ดังนั้นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการอ่านจึงเป็นทางเลือกที่ดี
ข้อดีข้อเสียของสื่อหนังสือแต่ละรูปแบบ
ประเภทสื่อหนังสือ | ข้อดี | ข้อเสีย |
หนังสือแบบเล่ม | – หนังสือเป็นเล่มแบบดั้งเดิมทำให้ผู้อ่านรู้สึกคุ้นเคย
– นักอ่านหลายคนชื่นชอบสัมผัสของหนังสือเล่ม ชอบกลิ่นกระดาษ ชอบการออกแบบรูปเล่ม – โดยเฉลี่ยถือว่ามีราคาถูกที่สุดและมักมีการลดราคาบ่อยครั้ง |
– หากมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากเกินไปอาจเทอะทะ และไม่เหมาะกับข้อมือของผู้สูงอายุ
– เนื้อหามีตัวอักษรที่อาจเล็กเกินไป – อาจหาซื้อได้ยาก ต้องใช้เวลาค้นหาและรอสินค้ามากกว่าอีบุ๊ก – การอ่านหนังสือแบบเล่มต้องใช้สมาธิมาก |
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ก) | – เพิ่มความสะดวกในการเลือกซื้อ พกพาและลดพื้นที่จัดเก็บหนังสือ
– น้ำหนักเบาเมื่อผู้สูงอายุอ่านจากโทรศัพท์มือถือและเครื่องอ่านอีบุ๊ก – ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเสื่อมสภาพของหนังสือเล่ม – ไม่มีปัญหาฝุ่นและไรฝุ่น – สามารถขยายขนาดตัวอักษรและปรับแสงสว่างในการอ่านได้จึงเหมาะกับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาสายตา – สามารถไฮไลต์ข้อความและใช้ AI ในโทรศัพท์มือถือช่วยอ่านข้อความได้ – สามารถเลื่อนข้อความได้จากปลายนิ้ว ไม่ต้องพลิกหน้ากระดาษ |
– อีบุ๊กมีราคาผันแปร บ้างราคาถูกกว่าหนังสือเล่ม บ้างมีราคาแพงกว่า เมื่อคิดรวมกับอุปกรณ์ในการใช้อ่านอีบุ๊ก
– ต้องใช้อินเทอร์เน็ตในการลงทะเบียนแอปพลิเคชัน และต้องสอนการใช้ให้ผู้สูงอายุ – หนังสือจำนวนมากมีลิขสิทธิ์เฉพาะรูปเล่ม ยังไม่นิยมนำมาทำในรูปแบบอีบุ๊ก – การไฮไลท์ข้อความและให้ AI อ่านทำได้ไม่สะดวกและน้ำเสียงของ AI ไม่เป็นธรรมชาติ
|
หนังสือเสียง | – เข้าถึงได้ง่ายด้วยสมาร์ทโฟน ผู้ฟังสามารถฟังขณะทำกิจกรรมอื่นในชีวิตประจำวันได้ เหมาะกับคนที่ไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือแบบเล่ม
– ไม่ต้องใช้สายตาจึงเหมาะกับผู้พิการทางสายตา ผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาทางการเรียนรู้ – พกพาสะดวกโดยฟังผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือหรือหน้าเว็บไซต์ – เปิดใช้งานได้ง่ายกว่าอีบุ๊ก – ผู้สูงอายุเคยชินกับการใช้วิทยุ เคยฟังละครวิทยุมาก่อนแล้ว จึงทำความเข้าใจวิธีการใช้แอปพลิเคชันได้ง่ายกว่า – หนังสือเสียงนิยมใช้นักพากย์ที่เป็นมืออาชีพ สามารถเลียนเสียงตามเพศ อายุ หรือเชื้อชาติของตัวละคร เพิ่มอรรถรสในการฟัง – น้ำเสียงของนักพากย์มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา ทำให้รู้สึกเหมือนได้เข้าสังคม ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแล |
– บางสำนักพิมพ์ใช้เสียง AI ทำให้น้ำเสียงไม่เป็นธรรมชาติ แบ่งวรรคตอนหรือแบ่งคำผิดพลาด
– AI อ่านคำทั้งที่สะกดผิดไม่มีการปรับแก้คำโดยอัตโนมัติ – มีราคาผกผัน ตั้งแต่ฟรีไปจนถึงราคาสูง เพราะการใช้นักพากย์มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้หนังสือเสียงโดยทั่วไปมีราคาสูงกว่าหนังสือเล่มและอีบุ๊ก – วรรณกรรมที่นำมาทำหนังสือเสียงเริ่มมีมากขึ้นในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังมีไม่มาก |
สรุป
จากตารางด้านบนจะเห็นได้ว่านอกเหนือจากแนวเนื้อหาที่นำมาให้ผู้ป่วยสูงอายุอ่านแล้ว ประเภทของสื่อหนังสือก็เป็นปัจจัยที่ควรพิจารณาเลือกให้เหมาะกับทุนทรัพย์และลักษณะการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุและผู้ดูแล ประเทศไทยมีเว็บไซต์หนังสือเสียงภาษาไทยที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1.เว็บไซต์หนังสือเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา http://www.braille-cet.in.th/Braille-new/?q=audio-books-leisure สามารถเข้าฟังได้ฟรีทุกรายการ
- 2. แอปพลิเคชัน meb และเว็บไซต์ https://www.mebmarket.com/?store=audiobook มีหนังสือเสียงทั้งแบบฟรีและแบบวางจำหน่ายให้เลือกซื้อ
- 3. เว็บไซต์สถาบันอุทยานการเรียนรู้ https://read.tkpark.or.th/audioBook/allContent/all และแอปพลิเคชัน TKread ที่มีหนังสือเสียงให้ยืม แต่จะต้องรอคิวและเสียค่าสมาชิกรายปี
- 4. เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Storytel เสียค่าสมาชิกเป็นรายเดือน https://www.storytel.com/th
- 5. เว็บไซต์ https://youtube.com และแอปพลิเคชัน มีนิทานและนวนิยายเสียงทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แต่ควรเลือกสนับสนุนวรรณกรรมที่ถูกลิขสิทธิ์
การหันมาเลือกหนังสือเสียงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกและตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคเทคโนโลยีได้อย่างน่าสนใจ ดังที่การวิจัยล่าสุดในปีที่แล้วของเฉินและหวังยืนยันและเน้นย้ำว่าการใช้หนังสือเสียงช่วยให้ผู้สูงอายุปรับตัวเข้ากับสังคมเพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ5
เขียนโดย
รุจีลักษณ์ สีลาเขต
นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยซอร์บอน
รายการอ้างอิง
- HANDI Project Team, & Usher, T. (2013). Bibliotherapy for depression. Australian Family Physician, 42(4), 199–200. Retrieved 24 June 2024 from https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23550243/
- Ameri, F., Vazifeshenas, N., & Haghparast, A. (2017). The impact of audio book on the elderly mental health. Basic and Clinical Neuroscience, 8(5), 361–370. Retrieved 24 June 2024 from https://doi.org/10.18869/nirp.bcn.8.5.361
- Marrs, R. W. (1995). A meta-analysis of bibliotherapy studies. American Journal of Community Psychology, 23(6), 843–870. Retrieved 24 June 2024 from https://doi.org/10.1007/BF02507018
- BLT Bangkok. (2020). อ่านไลฟ์สไตล์การอ่านของคนไทย ก่อนไปชอปกันที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 25. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567 จาก https://www.bltbangkok.com/news/29456/
- Chen, W. chao, & Wang, X. yan. (2023). The contribution of audiobook use on the mental health of older adults: The mediating effects of social adaptation. Aging & Mental Health, 28(5), 754–761. Retrieved 24 June 2024 from https://doi.org/10.1080/13607863.2023.2281634