ผู้สูงวัยกับประโยชน์จากการใช้ไลน์

ในยุคของเทคโนโลยีล้ำสมัยเช่นนี้ กิจวัตรพื้นฐานของผู้สูงวัยมีความสะดวกสบายกว่ามากขึ้นกว่าเดิม แม้ผู้สูงวัยบางคนอาจรู้สึกวิตกกังวลเมื่อต้องรับมือกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ แต่ในความเป็นจริง มีหลายวิธีที่จะทำให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายและสนุกมากขึ้น ตั้งแต่การสื่อสารกับคนที่เรารักไปจนถึงการเล่นเกม แอปพลิเคชันที่เหมาะกับผู้สูงวัยมีหลายประเภท ตัวอย่าง เช่น แอปออกกำลังกาย แอปค้นหาแหล่งข้อมูลจำเพาะที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ หรือแม้แต่แอปฝึกสมอง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การติดต่อสื่อสารบนโทรศัพท์มือถือ คือเรื่องพื้นฐานสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการตามติดเทคโนโลยี หนึ่งในแอปที่เป็นที่นิยมในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย คือไลน์ (LINE) ซึ่งเป็นแอปที่ใช้สื่อสาร มีลักษณะพิเศษของการส่งสติกเกอร์ หรือข้อความสั้น ๆ เหมาะแก่การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ และถูกใจผู้สูงวัยเป็นอย่างดี

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในประเทศไต้หวันที่ทดสอบการใช้แอปพลิเคชันไลน์ในสมาร์ตโฟนของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมีทัศนคติที่ดีต่อแอปสื่อสารอย่างไลน์ โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในประเด็นโครงสร้างรูปแบบการใช้งาน รองลงมาคือ ประโยชน์ ความสะดวกในการใช้งาน และความเต็มใจที่จะใช้งาน ตามลำดับ ข้อมูลข้างต้นสามารถตีความได้ว่า (1) ผู้สูงอายุมองว่า ไลน์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดีสำหรับตนเอง (2) มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน (3) สะดวกที่จะใช้ในการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง    อย่างไรก็ตาม ผู้สูงวัยยังเห็นว่า จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเพิ่มเติมและอธิบายฟังก์ชันการใช้งานบางอย่าง เช่น ตัวเลือก (options) ที่อยู่ในการตั้งค่าต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญเป็นอันมากในการสร้าง “ความเต็มใจที่จะใช้งาน” การยอมรับในเชิงบวกต่อแอปไลน์ในกลุ่มผู้สูงอายุในการศึกษาชิ้นนี้ หมายถึง การยอมรับในการใช้แอปพลิเคชันสื่อสารประเภทอื่น ๆ และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเต็มใจที่จะมองหาผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ตลอดจนเข้าใจพฤติกรรมของตนเองในการใช้งานด้านต่าง ๆ ต่อไป1

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “การดูแลทางการแพทย์แบบฉลาด” (smart medical care) ปัจจุบันผู้สูงอายุใช้เครื่องมืออัจฉริยะทางเทคโนโลยีมากขึ้น ในสถานการณ์การขาดแคลนทรัพยากรด้านการรักษาพยาบาล หากผู้สูงอายุสามารถรักษาสุขภาพกายผ่านกิจกรรมการจัดการสุขภาพด้วยตนเอง ก็จะสามารถลดความต้องการการรักษาพยาบาลได้ ทั้งนี้ มีการทดลองใช้แชทบ็อต (chatbot) ผ่านแอปพลิเคชันไลน์เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ในกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่าสามารถช่วยพัฒนาความรู้ด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ผู้สูงอายุซึมซับความรู้ด้านสุขภาพผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นแนวทางตั้งต้นในการจัดหาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก และจัดหาประเภทบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านประสบการณ์โดยตรงของผู้ใช้ แชทบ็อตส่งข้อความในเวลาที่กำหนดทุกเช้าและเย็นในรูปแบบพุช (push) ของแอปพลิเคชันไลน์ เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เลือกมาจากความรู้ด้านสุขภาพและความรู้ด้านอาหารในฐานข้อมูลแชทบ็อต ในกรณีที่ผู้ใช้งานไลน์มีความชื่นชอบต่อ แอปอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว การใช้งานแชตบ็อตก็จะสะดวกยิ่งขึ้นในการรับข้อความและเรียกดูข้อความ ทั้งนี้ข้อความจะไม่หายไปเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ผู้สูงวัยสามารถเรียกดูข้อความของวันก่อนหน้าได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ว่าง ก็สามารถรอเพื่อเรียกดูข้อความในยามว่างได้2

จากการทดลองข้างต้นหลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการศึกษาได้ซึมซับและสะสมความรู้ด้านสุขภาพ เกิดความประทับใจต่อความรู้ด้านสุขภาพในชีวิตประจำวัน และเกิดประสิทธิภาพหลังการทดสอบอย่างชัดเจน ผลของการได้รับความรู้ด้านสุขภาพมีนัยสำคัญต่อชีวิต แสดงให้เห็นว่าการใช้แชทบ็อตช่วยให้ผู้สูงอายุพัฒนาความรู้ของตนเองเกี่ยวกับการจัดการสุขภาพทั้งด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และความรู้ด้านการดูแลสุขภาพอื่น ๆ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดด้านอายุหรือข้อจำกัดด้านโรคหรือไม่ก็ตาม ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้เรื่องสุขภาพใหม่ ๆ ผ่านแชทบ็อตได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากผู้สูงอายุในประเทศไทยนิยมใช้แอปพลิเคชันไลน์เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการศึกษาเรื่องการใช้ไลน์เพื่อส่งเสริมสุขภาพอย่างกว้างขวาง มีการศึกษาชิ้นหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งมองว่า การใช้เครื่องมือคอมพิวเตอร์เตอร์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ในกลุ่มผู้ป่วยสามารถทำให้มีประสิทธภาพได้ แม้ว่าจะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจสังคมหรือการรู้หนังสือที่ต่างกันก็ตาม ผู้สูงอายุมีการจัดการโรคเบาหวาน ร่วมกับการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์มือถือได้ในแอปพลิเคชันไลน์ได้

การทดลองนี้เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)3 โดยมีพื้นฐานความคิดที่ว่า ผู้สูงอายุแต่ละคนเผชิญกับอุปสรรคในการรักษาสุขภาพไม่เหมือนกัน และผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพต้องตระหนักและตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้สูงวัยแต่ละคน เพื่อที่จะป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้สูงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความรู้และพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานโดยใช้แอปพลิเคชัน ไลน์ ร่วมกับการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานในจังหวัดเชียงใหม่ มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ผลการวิจัยพบว่า หลังจากใช้แอปพลิเคชันไลน์และการให้คำปรึกษาทางไกล กลุ่มแทรกแซงมีความรู้และพฤติกรรมการรักษาพยาบาลเฉลี่ยหลังจากใช้แอปพลิเคชันไลน์และการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์มากกว่าเดิม

กลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้และพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มควบคุม ความพึงพอใจโดยรวมมีค่าเฉลี่ยที่สูง แสดงว่าผู้ใช้มีความพึงพอใจในระดับสูงเมื่อเข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมความรู้และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวาน ดังนั้น บุคลากรที่เกี่ยวข้องควรใช้ผลการศึกษาโดยใช้แอปพลิเคชันไลน์ และเครื่องมือสร้างเครือข่ายใหม่ที่เข้าถึงผู้สูงอายุได้เช่นกัน

อีกงานวิจัยหนึ่งจัดทำการทดลองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล4 เพื่อศึกษาพฤติกรรมและปัญหาการใช้งานแอปพลิเคชันไลน์ของผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 55–69 ปี และมีประสบการณ์ในการใช้งานแอปพลิเคชันไลน์บนสมาร์ตโฟน โดยรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยคณะวิจัยได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการวิจัยด้วยการดำเนินกิจกรรมผ่านแอปพลิเคชันไลน์ จำนวน 12 กิจกรรม ผลจากการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีเพศ อายุ ประสบการณ์ในการใช้งาน และความถี่การใช้งานต่อสัปดาห์ที่ต่างกัน จะมีพฤติกรรมการใช้แอปพลิเคชันไลน์ไม่ต่างกัน วัตถุประสงค์หลักของการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุที่ศึกษาส่วนใหญ่ คือการติดต่อสื่อสารกับเพื่อน

ผู้สูงอายุที่ทดลองทำกิจกรรมที่กำหนดได้สำเร็จนั้น ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุที่ใช้สมาร์ตโฟนผ่านระบบปฏิบัติการแบบแอนดรอยด์ ทั้งนี้ กิจกรรมพื้นฐานที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถทำได้อย่างง่ายดาย คือ การส่งสติกเกอร์ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เรียนรู้วิธีการใช้งานแอปพลิเคชันไลน์จากลูกหลาน แต่ในกรณีที่กิจกรรมใดมีขั้นตอนการทำงาน หรือการเข้าถึงที่ยุ่งยาก ผู้สูงอายุเลือกที่จะไม่ทำกิจกรรมนั้น โดยส่วนใหญ่มักเลือกปฏิบัติเฉพาะกิจกรรมที่ตนเองทำได้และทำเป็นประจำ เช่น การส่งข้อความ การส่งสติกเกอร์ การส่งรูปภาพ เป็นต้น ทว่ากิจกรรมใดที่ไม่เคยทำ ผู้สูงอายุจะพยายามเลือกตัวช่วยที่เกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากกังวลว่าหากทำผิดจะส่งผลกระทบกับข้อมูลในแอปพลิเคชันไลน์ของตน ทั้งนี้ กิจกรรมใดที่ผู้สูงอายุไม่สามารถทำได้ ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ตนเองไม่รู้ว่าต้องเลือกที่เมนูใด ข้อสรุปอย่างหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการออกแบบแอปพลิเคชันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่ว่าผู้สูงอายุจะได้เข้าถึงและทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าไลน์ล้วนเป็นแอปพลิเคชันที่เป็นที่นิยมในประเภทแถบเอเชีย และสามารถเป็นสื่อกลางในการพัฒนาสุขภาพของผู้สูงวัยได้ นัยสำคัญของการวิจัยทั้งหลายข้างต้น คือ การพัฒนาแนวทางการออกแบบแอปพลิเคชันเพื่อการสื่อสาร รวมถึงแอปพลิเคชันอื่น ๆ ให้เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อให้การเข้าถึงเทคโนโลยีจะได้ไม่เป็นเรื่องยากเกินไป ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านกายภาพหรือความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2565

รายการอ้างอิง

  1. Wen, T. N., Cheng, P. L., & Chang, P. L. (2017). Evaluate the usability of the mobile instant messaging software in the elderly. In MEDINFO 2017: Precision Healthcare through Informatics (pp. 818-822). IOS Press.
  2. Tsai, W. C., Hsieh, Y. C., & Lee, C. F. (2021, July). Exploring Effectiveness of Absorbing Health Knowledge by the Middle-Aged and Elderly Using Chatbots. In International Conference on Human-Computer Interaction (pp. 318-329). Springer.
  3. Wungrath, J., Siripipatthanakul, S., & Phayaphrom, B. (2021). Healthcare Education Process Adopting the Line Application in Conjunction with Tele-Counseling to Improve Knowledge, Behavior and Satisfaction among Elderly with Diabetes Mellitus during the COVID-19 Pandemic. Psychology and Education Journal, 58(5), 6210.
  4. จันทร์จิราพร ทองประสิทธิ์ และทิพยา จินตโกวิท. (2563). พฤติกรรมของผู้สูงอายุในการใช้แอปพลิเคชันไลน์บนสมาร์ตโฟน. วารสารวิชาการพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, 30(1). 118-129. http://ojs.kmutnb.ac.th/index.php/kjournal/article/view/2233/2047
Scroll to Top