คนทุกช่วงวัยควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติให้ต้องกังวล แต่สำหรับผู้สูงวัยนั้น การพบปะแพทย์เพื่อรายงานผลสุขภาพมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะแพทย์จะได้มีโอกาสติดตามสุขภาพของผู้ป่วยและเปรียบเทียบสุขภาพกับการนัดครั้งก่อนหน้า ทั้งนี้ ผู้สูงอายุมักมีโอกาสที่จะพบปัญหาด้านสุขภาพทั้งเรื้อรังและซับซ้อนมากกว่ากลุ่มคนวัยอื่น
แพทย์ที่พบเป็นประจำย่อมรู้จักสุขภาพของผู้สูงวัยเป็นอย่างดี ตลอดจนความเป็นอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ฉะนั้น การปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้สูงวัยย่อมเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง การสื่อสารกับผู้สูงวัยให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอันมาก เพราะส่งผลต่อการพบปะในแต่ละครั้ง ทำให้ผู้สูงวัยสบายใจ และผู้ดูแลรอบข้างผู้สูงวัยจะได้มีความมั่นใจในการดูแลมากขึ้น1
มีการรายงานจากซีกโลกตะวันตกว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มักพบแพทย์โดยเฉลี่ย 8 ครั้งต่อปี ถือเป็นการปฏิสัมพันธ์ที่เลี่ยงไม่ได้ระหว่างผู้รับบริการสุขภาพกับบุคลากรทางการแพทย์2 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยสูงอายุซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งความถี่ในการพบแพทย์และการปฏิสัมพันธ์ โดยปกติการสื่อสารระหว่างบุคคลอาจมีอุปสรรคจากความชราภาพของแต่ละคนตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียประสาทสัมผัส ความจำลดลง การประมวลผลข้อมูลช้าลง พลังทางกายของตนเองลดลง หรือการแยกจากครอบครัวและเพื่อนฝูง3 ช่วงเวลาเหล่านี้เองเป็นช่วงเวลาเดียวกับเวลาที่ผู้ป่วยสูงวัยจำเป็นต้องสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุด เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจึงควรต้องพัฒนาความเข้าใจและวิธีการในการปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุอยู่เสมอ
กระบวนการสื่อสารโดยทั่วไปย่อมมีความซับซ้อนอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่การสื่อสารอาจมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกตามอายุของคู่การสื่อสาร ปัญหาประการหนึ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญเมื่อต้องรับมือกับผู้ป่วยสูงวัยคือ ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า นอกจากนั้น ประสบการณ์ชีวิตของผู้สูงวัยที่หลากหลาย รวมถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมก็ย่อมมีผลต่อการรับรู้ความเจ็บป่วยของตนเอง มีผลต่อความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ หรือมีผลต่อความสามารถในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ให้บริการด้านการแพทย์4
นักวิชาการต่างประเทศได้ให้ข้อแนะนำในการสื่อสารกับผู้สูงวัยที่ประสงค์จะเข้ามาติดต่อใช้บริการด้านการแพทย์ ซึ่งบุคลากรต่าง ๆ ควรได้รับการฝึกฝนและรับทราบ รวมไปถึงบุคคลในครอบครัวที่แวดล้อมผู้สูงวัยด้วย โดยสรุปเป็นข้อพึงปฏิบัติได้ดังนี้5
1) ควรกำหนดเวลานัดหมายผู้สูงวัยในช่วงเช้า เพราะผู้สูงอายุมักจะรู้สึกเหนื่อยล้าในตอนกลางวัน หากจัดตารางพบปะผู้สูงวัยให้เร็วขึ้นจะช่วยให้ผู้สูงวัยมาพบแพทย์ในช่วงเวลาที่หน่วยบริการการแพทย์ยังไม่วุ่นวายหรือมีคนจำนวนมาก (กรณีในช่วงสาย) การทำเช่นนี้จะเป็นการจัดสรรเวลาของบุคลากรทางการแพทย์สำหรับผู้สูงวัยได้มากขึ้นด้วย
2) ควรทักทายผู้สูงวัย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกสบายใจ รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ เจ้าหน้าที่ควรทักทายด้วยความอบอุ่นยามเมื่อพบกันครั้งแรกในสถานพยาบาล ทั้งยังควรแนะนำตัวเองด้วยการระบุชื่อและตำแหน่งของตนให้ชัด เพื่อสร้างความไว้วางใจอีกประการหนึ่งด้วย
3) ควรจัดที่นั่งสำหรับผู้สูงวัยในบริเวณที่เงียบสงบ เพราะโดยมากแล้วบริเวณแผนกด้านหน้า มักมีเสียงดังและมีผู้คนหลากหลายจนอาจทำให้ผู้สูงวัยสับสน ควรจัดที่นั่งให้อยู่ห่างจากเสียงรบกวน นอกจากนี้ บริเวณที่นั่งรอจะต้องแข็งแรงมั่นคง มีมาตรฐาน ควรมีที่รองแขนเพื่อให้ผู้ป่วยสูงวัยลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง
4) ควรผลิตสื่อเอกสารที่อ่านเข้าใจง่าย บริเวณรอตรวจและห้องตรวจควรมีแสงสว่างเพียงพอ กระจายทั่วห้องอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความกังวลของผู้สูงวัย เลี่ยงมิให้ผู้สูงอายุนั่งในเงามืด เพราะแสงสว่างจะช่วยให้อ่านเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ก็สามารถสังเกตสีหน้าหรืออากัปกิริยาของผู้สูงวัยได้ด้วย ควรใช้ตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ อ่านง่าย ในสื่อการเรียนรู้ทั้งหมด มีป้ายบอกข้อความต่าง ๆ เข้าใจง่ายติดไว้โดยตลอด เพราะผู้สูงอายุหลายคนอาจไม่สะดวกใจที่จะสอบถามโดยตรงกับเจ้าหน้าที่
5) ควรทำให้ผู้สูงวัยผ่อนคลายและมีสมาธิ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ผู้สูงวัยไว้ใจและให้ข้อมูลที่แท้จริงตรงตามอาการของตน การสัมผัสร่างกายเพียงแผ่วเบายามประคองหรือนำทางเดินอาจช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย เพิ่มความไว้วางใจมากขึ้น
6) ควรกล่าวคำลาเมื่อเสร็จสิ้นการสื่อสารกับผู้สูงวัย เพื่อสร้างการรับรู้ว่าการมาพบปะกับบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเชื่อมโยงกับสิ่งที่ผู้สูงวัยต้องการมาปรึกษา ถือเป็นการแสดงความห่วงใยวิธีหนึ่ง และสร้างความประทับใจที่ดีในการกลับมาใช้บริการครั้งถัดไป
จะเห็นได้ว่า สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์กับผู้สูงวัย หากมีสิ่งแวดล้อมดี สะดวกสบายในการใช้บริการ และเป็นมิตรกับผู้สูงวัย ย่อมอำนวยให้การปฏิสัมพันธ์เป็นไปอย่างคล่องตัว เอื้อให้เกิดความเข้าใจ และได้ผลลัพธ์ในการสื่อสารอย่างเหมาะสมและถูกต้องครบถ้วน
โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 27 ธันวาคม 2565
รายการอ้างอิง
- Lasman, D. (n.d.). The advantages of seeing a doctor regularly. Senior Healthcare Team. https://seniorhealthcareteam.com/articles/the-advantages-of-seeing-a-doctor-regularly/
- Frechman, E., Dietrich, M. S., Walden, R. L., & Maxwell, C. A. (2020). Exploring the uptake of advance care planning in older adults: an integrative review. Journal of pain and symptom management, 60(6), 1208-1222.
- 3. O’Hanlon, A., & Coleman, P. (2004). Attitudes towards aging: Adaptation, development and growth into later years. In J. F. Nussbaum & J. Coupland (Eds.,) Handbook of communication and aging research (pp. 51-84).
- 4. Halter, J. B. (1999). The challenge of communicating health information to elderly patients: A view from geriatric medicine. In Processing of Medical information in Aging Patients (pp. 35-40). Psychology Press.
- Robinson, T. E., White, G. L., & Houchins, J. C. (2006). Improving communication with older patients: Tips from the literature. Family Practice Management, 13(8), 73-78. https://www.aafp.org/pubs/fpm/issues/2006/0900/p73.html