เฟซบุ๊กกับผู้สูงวัย

จากการคาดการณ์จำนวนประชาการทั่วโลกพบว่า ในระหว่าง ค.ศ. 2015 ถึง ค.ศ. 2050 โลกของเราจะมีผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านคน เป็น 2 พันล้านคนทั่วโลก ในจำนวนตัวเลขของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นนี้ แม้ผู้สูงอายุในบางประเทศอาจประสบปัญหาอุปสรรคในการเชื่อมต่อทางสังคมออนไลน์ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็จะสามารถเข้าถึงโลกออนไลน์และใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network Services) ในอนาคตข้างหน้าได้มากขึ้นตามตัวเลข

ในปัจจุบัน หนึ่งในบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมคือเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กลุ่มเพื่อนวัยเรียนในอดีตได้เชื่อมต่อถึงกัน  โดยทั่วไปแล้วเว็บไซต์เครือข่ายสังคมนั้น ถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมของคนหนุ่มสาว แต่ในทางกลับกัน เฟซบุ๊กได้กลายเป็นต้นทุนทางสังคมในกลุ่มผู้สูงอายุเช่นกัน เพราะทำให้ผู้สูงอายุติดต่อเชื่อมถึงกันได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (belongingness) ที่ต่างไปจากการใช้เครือข่ายสังคมแบบดั้งเดิม (non-traditional)

มีรายงานชิ้นหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 2018 ในสหราชอาณาจักร1 พบว่าเด็กอายุ 12 ถึง 17 ปี จำนวนถึง 2.2 ล้านคน และเด็กอายุ 18 ถึง 24 ปี จำนวน 4.5 ล้านคน ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กเป็นประจำทุกวัน ซึ่งน้อยกว่าใน ค.ศ. 2017 ถึง 700,000 คน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ใช้ที่อายุน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะไปใช้บริการสังคมออนไลน์อื่น ๆ เช่น สแนปแชต (Snapchat) แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่มีอายุมากกว่ากลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี จะกลายเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่เป็นอันดับสองของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในอนาคต

แม้ว่าเฟซบุ๊กจะประสบความสำเร็จค่อนข้างดีในกลุ่มผู้ใช้สื่ออายุน้อย แต่คนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการแฟลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น อินสตาแกรม (Instagram) ทั้งนี้ การที่เฟซบุ๊กมีระยะเวลาการดำเนินงานยาวนาน ทำให้กลุ่มคนที่ใช้เฟซบุ๊กในช่วงแรกเติบโตหรือแก่ตามไปด้วย จึงเป็นเสมือนเครื่องยืนยันให้เห็นว่า ฐานความนิยมของเฟซบุ๊กคือกลุ่มคนที่มีอายุสูงขึ้นควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนั้น การขยายตัวของการใช้งานเฟซบุ๊กในกลุ่มคนอายุสูงวัยก็พบว่ามีมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยใน ค.ศ. 2016 มีผู้ใช้รายใหม่ที่มีอายมากกว่า 55 ปีขึ้นไปในอังกฤษ เข้าร่วมเฟซบุ๊กมากถึง 500,000 คน และใน ค.ศ. 2018 ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเป็นประจำซึ่งมีอายุระหว่าง 55-65 ปี มีจำนวนรวมถึง 6.4 ล้านคน นับเป็นสถิติทางประชากรที่มากที่สุด รองจากกลุ่มอายุ 16-34 ปี

ปัจจัยที่น่าสนใจประการหนึ่งที่ผู้สูงวัยจึงนิยมแพลตฟอร์มนี้ คือเหตุผลที่ว่าผู้สูงอายุมักจะเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ตได้ช้ากว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ แต่เมื่อเข้าใจวิธีการใช้งานและค้นพบความเพลิดเพลินใจก็มักจะคงเป็นผู้ใช้งานต่อไปอยู่เช่นนั้น และด้วยลักษณะของแพลตฟอร์มที่มีการลงคลิปวิดีโอหรือภาพถ่าย เฟซบุ๊กจึงเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้สูงวัยชื่นชอบ เพราะสามารถติดตามชีวิตของลูก ๆ หลานๆ ได้อย่างใกล้ชิด

สำหรับประเทศโปรตุเกส การแยกตัวทางสังคม (Social isolation) ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งผลให้ทักษะทางร่างกายและจิตใจลดลง จนกระทั่งทำให้คุณภาพชีวิตทั่วไปลดลงตามไปด้วยและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น บริการเครือข่ายสังคม เช่น เฟซบุ๊กจึงถือว่ามีศักยภาพในการเพิ่มความบ่อยในการปฏิสัมพันธ์ในสังคมออนไลน์ของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเฟซบุ๊กมีกลุ่มผู้ใช้หลากหลาย ขาดหลักการออกแบบที่ครอบคลุมการบริการเครือข่ายสังคม และมีวิธีการโต้ตอบออนไลน์ที่ยังไม่เหมาะสม ผู้สูงอายุในโปรตุเกสจึงยังคงต่อต้านการใช้บริการเหล่านี้

คณะนักวิจัยชาวโปรตุเกสจึงได้ทดลองการปฏิสัมพันธ์ของผู้สูงอายุในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง โดยลองสร้างรายการ “You, me & TV” ซึ่งเป็นตัวแบบเฟซบุ๊กแบบพหุวิธีสื่อสาร (Multimodal) โดยปรับให้มีฟังก์ชันการแชร์รายการทีวีเพิ่มขึ้น โดยสามารถแชร์ภาพถ่าย พร้อมเพิ่มวิธีการโต้ตอบที่หลากหลาย เช่น การควบคุมระยะไกลด้วยเสียงและท่าทาง ตัวแบบรายการนี้ได้นำไปทดลองในผู้สูงอายุสามคนที่มีอายุระหว่าง 65 ถึง 73 ปี แต่มีประสบการณ์การใช้เฟซบุ๊กในระดับที่แตกต่างกัน ภายในระยะเวลา 3 ถึง 6 สัปดาห์2

ผลการวิจัย พบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการวิจัยให้การยอมรับตัวแบบรายการนี้ โดยให้คะแนนสูงในแง่ของความสามารถในการใช้งาน และการปรับปรุงปฏิสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการโต้ตอบทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ผลข้อนี้เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยใช้เฟซบุ๊กมาก่อนด้วย คณะนักวิจัยยังได้สรุปผลว่า ปัจจัยที่เอื้อต่อการนำตัวแบบนี้ไปใช้ คือ ความเกี่ยวข้องของรูปภาพกับชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย วิธีที่รูปภาพกระตุ้นการโต้ตอบระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว และวิธีการใช้ทีวีเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเข้าถึงเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ดี การปรับตัวและการปรับเปลี่ยนทัศนคติของแต่ละคนนั้น ย่อมแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคลิกของผู้สูงวัยด้วย

ในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเริ่มใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก จึงมีการศึกษาการแตกสาขาของการใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคม (social network sites) ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,003 คน ในกลุ่มนี้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กถึง 1,138 คน และสำรวจรูปแบบการใช้เฟซบุ๊กในกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 18–65 ปี กับผู้ใช้งานที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป3 ผลการวิจัยพบว่า ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีโครงสร้างเครือข่ายที่แตกต่างกัน แต่ความถี่ของการเข้าชมสื่อออนไลน์กับระดับการรักษาความสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ไม่แตกต่างจากผู้ใช้ที่อายุน้อยกว่า

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า ในหมู่ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ที่มีอายุเกิน 65 ปี เป็นจำนวน 98 คนนั้น จำนวนของเพื่อน “ที่แท้จริง” ซึ่งแสดงตนบนเฟซบุ๊ก อาจเป็นตัวชี้วัดในเชิงบวกว่า ผู้สูงอายุได้รับการช่วยเหลือในขณะใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่น ๆ โดยรวมแล้ว งานวิจัยนี้เน้นย้ำให้เห็นรูปแบบการใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์และประโยชน์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เฟซบุ๊กในหมู่ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกสำหรับการออกแบบเทคโนโลยี (technological interventions) ในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมจากการใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมได้ดียิ่งขึ้น

ในเซา เปาลู ประเทศบราซิล มีการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นผ่านการใช้เฟซบุ๊กเช่นกัน โดยใช้ทฤษฎีการคัดเลือกทางสังคมและอารมณ์ (socioemotional selectivity theory) มาเป็นกรอบการวิจัยในกลุ่มผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นผู้สูงอายุจำนวน 130 คน ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยในจำนวนนี้ เป็นเพศหญิงถึงร้อยละ 82.3 อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมวิจัยอยู่ที่ 67.9 ปี การศึกษาเฉลี่ย 12 ปี และใช้เฟซบุ๊กมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี พร้อมมีเครือข่ายเพื่อนในเฟซบุ๊กไม่ต่ำกว่า 30 บัญชีใช้งาน4

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รวบรวมข้อมูลรูปแบบการใช้งานเฟซบุ๊ก (เช่น ความถี่ในการใช้งาน ขนาดเครือข่าย ประสิทธิภาพในการใช้งาน คุณภาพของการติดต่อ) รวมถึงข้อมูลโครงสร้างตามทฤษฎีการคัดเลือกทางสังคมและอารมณ์ (เช่น มุมมองเวลาในอนาคตและระดับความพึงพอใจในชีวิต) เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ กับระดับความพึงพอใจในชีวิตของผู้เข้าร่วมการวิจัย

ผลการวิจัยพบความพึงพอใจในชีวิตกับอายุมีความสัมพันธ์เชิงบวกโดยตรงซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่คาดการณ์ไว้ ส่วนขนาดของเครือข่ายสังคมกับอายุมีความสัมพันธ์ในเชิงลบ มุมมองด้านเวลาในอนาคตยังคงเป็นตัวกลางระหว่างอายุและความพึงพอใจในชีวิต ทั้งนี้ ตัวชี้วัดการคัดเลือกทางสังคมและอารมณ์อื่น ๆ เช่น การลดขนาดเครือข่ายกับความใกล้ชิดทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพึงพอใจในชีวิต ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมผ่านเฟซบุ๊กสามารถใช้เป็นตัวช่วยในการสร้างความพึงพอใจในชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุได้ โดยไม่จำเป็นต้องลดขนาดเครือข่ายสังคมลงให้เหลือเพียงวงจำกัดแต่เพียงมิตรสหายดั้งเดม ในทางตรงกันข้าม เราอาจใช้เฟซบุ๊กเป็นตัวช่วยเพิ่มขนาดเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างปรับปรุงสุขภาวะทั้งกายและใจของผู้สูงอายุได้ให้ดีขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

จะเห็นได้ว่า งานวิจัยในต่างประเทศล้วนแสดงถึงการให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุที่ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีงานวิจัยในประเด็นเดียวกันที่น่าสนใจเช่นกัน โดยรองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉายาได้ศึกษาการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุและข้อเสนอเพื่อเสริมสร้างภาวะพฤฒิพลังของผู้สูงอายุไทย5 พบว่าส่วนใหญ่แล้ว ผู้สูงอายุชาวไทยจะใช้โปรแกรมสื่อสารออนไลน์ 3 ชนิดเป็นหลัก ได้แก่ ไลน์ เฟซบุ๊ก และยูทูป

ผู้สูงอายุในกลุ่มอายุ 50-59 ปี มีการใช้งานโปรแกรมสื่อสารออนไลน์ข้างต้นในระดับมาก และกลุ่มอายุ 60-70 ปี มีการใช้งานระดับปานกลาง สำหรับการติดตามข่าวสารในสังคมนั้น พบว่า กลุ่มอายุ 50–64 ปี มีการใช้งานระดับมาก และกลุ่มอายุ 65–70 ปี มีการใช้งานระดับปานกลาง ในส่วนของการซื้อสินค้าออนไลน์ อีเมล ทำคลิปบนยูทูป และสร้างเพจส่วนตัวนั้น มีการใช้งานระดับน้อยในทุกกลุ่มอายุ ผู้สูงวัยมีแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่ การต้องการการมีส่วนร่วมและทำกิจกรรมกับคนวัยเดียวกัน รายได้เพื่อความมั่นคงในชีวิต ความสามารถในการใช้สื่อเพื่อพัฒนาตนเอง และการดูแลชีวิตที่ดีขึ้น

ในด้านการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยี งานวิจัยพบว่ากลุ่มอายุ 60-70 ปี มีความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนกลุ่มที่ใกล้เข้าช่วงอายุ 50-59 ปี มีความรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลมาก อุปสรรคในการใช้เทคโนโลยีของผู้สูงวัยที่พบ ได้แก่ ปัญหาทางสายตา ความซับซ้อนของเทคโนโลยี ความกังวลในการกรอกข้อมูลรายละเอียดส่วนตัว การอวดอ้างสรรพคุณของสื่อโฆษณา และกลัวว่าสัญญาณโทรศัพท์จะส่งผลต่อสุขภาพตนเอง

จากงานวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุล้วนเปราะบางในการใช้สื่อโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก การเพิ่มความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยี พร้อม ๆ กับการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและญาติมิตรอื่น ๆ จึงเป็นหลักคิดสำคัญในการพัฒนาหนทางในการทำให้เฟซบุ๊กใช้งานได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าลักษณะหรือกลไกของเครือข่ายออนไลน์ทั้งหลายจะยังไม่ได้รับการปรับปรุงให้พร้อมสรรพสำหรับผู้สูงอายุ แต่ผู้สูงอายุเองก็สามารถปกป้องสิทธิและรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ โดยไม่ต้องรอให้เทคโนโลยีมาช่วยจัดการ โดยการพึงตระหนักถึงภัยที่อาจตามมาจากการใช้งานสื่ออย่างไม่พินิจพิจารณา นั่นคือ ต้องมีสติในการใช้สื่อ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตนเองอยู่กับเทคโนโลยีได้อย่างรู้เท่าทัน

โดยกองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565

รายการอ้างอิง

  1. Sweney, M. (2018, 12 February). Is Facebook for old people? Over-55s flock in as the young leave. The Guardian. https://www.theguardian.com/technology/2018/feb/12/is-facebook-for-old-people-over-55s-flock-in-as-the-young-leave
  2. Coelho, J., Rito, F., & Duarte, C. (2017). “You, me & TV”—Fighting social isolation of older adults with Facebook, TV and multimodality. International Journal of Human-Computer Studies, 98, 38-50.
  3. Yu, R. P., Ellison, N. B., & Lampe, C. (2018). Facebook use and its role in shaping access to social benefits among older adults. Journal of Broadcasting & Electronic Media, 62(1), 71-90.
  4. Chiarelli, T. M., & Batistoni, S. S. T. (2021). An analysis of socioemotional selectivity theory in the context of older adults’ use of Facebook. Educational Gerontology, 47(1), 13-24.
  5. เปิดงานวิจัย ผู้สูงวัยกับการใช้เทคโนโลยี เผย 3 โปรแกรมยอดฮิตครองใจคนแก่ ไลน์-เฟซบุ๊ก-ยูทูป. (2020). https://thaitgri.org/?p=39050
Scroll to Top