ปัจจัยด้านจิตใจและแรงผลักดันกับการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ

นอกจากการออกแบบเทคโนโลยีของเครื่องมือสื่อสารเพื่อผู้สูงอายุในเชิงวัตถุ เช่น การออกแบบเครื่องมือสื่อสาร การใช้ฟอนต์ การใช้สี เป็นต้น ในบทความนี้ จะอธิบายถึงปัจจัยด้านจิตใจและแรงผลักดันของผู้สูงอายุเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มีต่อการใช้งานเทคโนโลยีหรือไม่ด้วย

เมื่อพิจารณากันโดยทั่วไปแล้ว เราจะพบว่า คนรุ่นใหม่มักจะผสานรวมเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตของตนได้อย่างไม่มีปัญหา ราบรื่น และสนุกไปกับเทคโนโลยี เพราะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางเทคโนโลยีและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านเทคโนโลยี จนเทคโนโลยีกลายเป็นส่วนเสริมกิจวัตรประจำวันโดยธรรมชาติ ทว่าผู้สูงอายุมักใช้เทคโนโลยีต่างออกไป บางแอปพลิเคชันที่มีประโยชน์อาจถูกผู้สูงอายุมองข้าม มีบางกรณีที่เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์พยายามสร้างเกมแบบง่าย ๆ เพื่อเรียกความสนใจของผู้สูงอายุ แต่การเล่นเกมก็มักจะกระตุ้นความสนใจในกลุ่มผู้สูงวัยตอนต้น (pre-ageing) เสียเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น มักไม่ได้ผลกับผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ดังนั้นการเชิญชวนให้ผู้สูงอายุเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับสื่อออนไลน์ จึงจำเป็นต้องนึกถึงการออกแบบเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการใช้งานเป็นสำคัญ1

เมื่อเราออกแบบอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือต้องแน่ใจว่า รูปแบบการใช้งานต้องเรียบง่ายและการเริ่มต้นใช้งานอุปกรณ์นั้น ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อนำพาผู้สูงอายุให้ทราบเกี่ยวกับฟังก์ชันทั้งหลายที่อาจไม่คุ้นเคย (เช่น แอปพลิเคชันไลน์ ที่มักมีฟังก์ชันใหม่เพิ่มมาเสมอตามการอัพเดทเวอร์ชัน) ดังนั้น การคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใช้อายุน้อยที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี อาจผสานการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ากับชีวิตประจำวันของตนได้อย่างเต็มใจ แต่ผู้ใช้ที่อยู่ในวัยสูงอายุจำนวนมากยังอาจลังเลที่จะถลำลึกลงไปในเทคโนโลยีในแบบเดียวกับคนรุ่นใหม่ การสร้างแรงจูงใจหรือการออกแบบที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกดีต่อเทคโนโลยีจึงควรเป็นเป้าหมายหลักในการออกแบบใด ๆ เพื่อผู้สูงวัยด้วย2

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำเสนอประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีของผู้สูงวัยเพื่อมุ่งพัฒนาออกแบบระบบหุ่นยนต์บริการที่ใช้งานง่ายและเป็นที่ยอมรับมาใช้สำหรับผู้สูงอายุ  โดยคณะนักวิจัยได้ออกแบบที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง ซึ่งได้ทดลองใช้ตัวแบบนั้นในสภาพแวดล้อมที่เสมือนจริง ผ่านตัวแบบบริการหุ่นยนต์หลากหลาย (multi-robot services) ซึ่งคาดว่ามีความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้สูงวัยในอนาคตอันใกล้ ผลการทดลองแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการใช้งานและ “ความเต็มใจ” ของผู้ใช้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์กับอุปกรณ์เทคโนโลยีมาก่อน ยังสามารถใช้ประโยชน์จากบริการหุ่นยนต์ได้ การวิเคราะห์ผลการใช้งานยังแสดงให้อีกด้วยเห็นว่า วิธีปฏิสัมพันธ์หลายรูปแบบของผู้สูงอายุกับหุ่นยนต์ มีความยืดหยุ่น เป็นธรรมชาติ เห็นประโยชน์อย่างชัดเจน และเพิ่มการยอมรับในเชิงจิตใจในกลุ่มผู้ใช้สูงวัยได้3

อีกหนึ่งงานวิจัยในประเทศสวีเดนที่มองเทคโนโลยีเป็นคำตอบสำหรับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงวัย โดยเป็นการศึกษาการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อเป็นตัวช่วยการดำเนินชีวิตในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งต้องนำเทคโนโลยีไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน การศึกษานี้ทดสอบแบบจำลองการยอมรับการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุในเชิงประจักษ์โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สูงอายุ 811 คน อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้น ผลการวิจัยพบว่า เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับ “การรับรู้ความยากง่ายในการใช้งาน” และ “การรับรู้ถึงประโยชน์” ในระดับสูงนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับการออกแบบเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ฉะนั้นการออกแบบนั้นควรตระหนักถึงการรับรู้ความสามารถของผู้สูงอายุ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ และความสามารถทางปัญญา4

ในการออกแบบเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ยังมีการนำแนวทางการออกแบบแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Design (PD) มาใช้กันอย่างแพร่หลายในการสร้างพฤฒเทคโนโลยี (gerontechnology) (สิ่งอำนายความสะดวกเพื่อผู้สูงอายุ จำพวกระบบเซ็นเซอร์ภายในบ้าน กล้องวงจรปิด ประตูเปิดปิดอเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น) โดยหลักแล้ว การศึกษาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุแบ่งได้ 3 ลักษณะด้วยกัน (1) การใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาวิธีการใช้งานใหม่ ๆ (2) การมุ่งสร้างอุปกรณ์แบบใหม่ (3) การทดสอบหรือดัดแปลงต้นแบบทางเทคโนโลยี ฉะนั้น การออกแบบแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำไปพัฒนาพฤฒเทคโนโลยี จึงตั้งอยู่บนแนวคิดสำคัญ คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้ใช้ในอนาคต วิธีการที่ผู้ใช้ในอนาคตเหล่านั้นมีส่วนร่วม และลักษณะการเข้าร่วมกระบวนการนวัตกรรม โดยการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมควรมีกลยุทธ์ที่ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การร่วมคิด การร่วมทดลอง และการร่วมเผยแพร่การใช้งาน ซึ่งต้องเริ่มจากความต้องการของผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงวัยเป็นหลัก ตลอดจนการประเมินผล เพื่อพิจารณาถึงวิธีการที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นสำหรับผู้สูงวัย5

อีกแนวคิดหนึ่งที่ใกล้เคียงกับการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ คือการพัฒนาพฤฒเทคโนโลยีแบบ “Do-It-Yourself” (DIY) เพื่อเป็นทางเลือกและมีคุณค่าทางใจ แทนเทคโนโลยีผู้สูงอายุแบบ “สำเร็จรูป” ซึ่งส่วนมากมักจะไม่เข้ากับชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ มีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ลองวิเคราะห์งานของผู้บริบาลผู้สูงอายุในสถานประกอบการดูแลต้นแบบในนอร์เวย์ โดยให้ผู้บริบาลแนะนำผู้สูงอายุเป็นผู้ทดลอง “ประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ” ของเครื่องมื่อที่ใช้พฤฒเทคโนโลยีด้วยตนเอง และสังเกตปฏิกิริยาของผู้เข้าร่วมกิจกรรม พฤฒเทคโนโลยีที่ใช้ทดสองหลักการ DIY ดังกล่าวนั้น มักเป็นอุปกรณ์สร้างสรรค์ซึ่งเหมาะกับความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุ สามารถประกอบขึ้นเองจากวัตถุทั่วไปซึ่งมีจำหน่ายในร้านค้า การทดลองพบว่า หลังการแนะนำของเจ้าหน้าที่ผู้บริบาลเกี่ยวกับหลักการ DIY ในพฤฒเทคโนโลยีต่าง ๆ ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการวิจัยเริ่มมีความสุขกับการใช้งาน สามารถคิดหนทางแก้ปัญหาการใช้งานเทคโนโลยีที่ตนไม่คุ้นเคย ในบางรายที่มีทักษะช่างอยู่ก่อนหน้าก็สามารถนำพฤฒเทคโนโลยีไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว 6

จากงานวิจัยต่าง ๆ ข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีจะล้ำหน้าไปไกลสักเพียงใด การออกแบบเพื่อผู้สูงอายุนั้น นอกจากจะต้องคำถึงการใช้งานที่ง่ายแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสภาพจิตใจกับความพร้อมทางใจของผู้สูงวัยด้วย เช่น การยอมรับ การปรับตัว และการลงมือทำด้วยตัวเอง (DIY) เพื่อที่ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งหลายหรือ “พฤฒเทคโนโลยี” จะได้เป็นตัวช่วยและนำพาให้ผู้สูงวัยมีชีวิตในวัยเกษียณที่เป็นสุขได้จริง

โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 7 ธันวาคม 2565

เอกสารอ้างอิง

  1. Sandsgaard, S. (n.d.). A practical approach to gamification design. Designers. https://www.toptal.com/designers/ui/gamification-design
  2. Polyuk, S. (n.d.). Age before beauty – A guide to interface design for older adults. Designers. https://www.toptal.com/designers/ui/ui-design-for-older-adults
  3. Di Nuovo, A., Broz, F., Wang, N., Belpaeme, T., Cangelosi, A., Jones, R., Esposito, R., Cavallo, F., Dario, P., & Dario, P. (2018). The multi-modal interface of Robot-Era multi-robot services tailored for the elderly. Intelligent Service Robotics, 11(1), 109-126.
  4. Mostaghel, R., & Oghazi, P. (2017). Elderly and technology tools: A fuzzyset qualitative comparative analysis. Quality & quantity, 51(5), 1969-1982.
  5. Merkel, S., & Kucharski, A. (2019). Participatory design in gerontechnology: A systematic literature review. The Gerontologist, 59(1), e16-e25.
  6. 6. Bergschöld, J. M., Neven, L., & Peine, A. (2020). DIY gerontechnology: circumventing mismatched technologies and bureaucratic procedure by creating care technologies of one’s own. Sociology of Health & Illness, 42(2), 232-246.
Scroll to Top