การสื่อสารและการดูแลผู้สูงวัยต่างชาติในประเทศไทย

การท่องเที่ยวระยะยาวระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่าการย้ายถิ่นฐานเพื่อการเกษียณอายุระหว่างประเทศ เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศแถบตะวันตกมาหลายทศวรรษ และค่อย ๆ แพร่กระจายไปทั่วโลก รัฐบาลไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 โดยเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

คำว่า “การพำนักระยะยาว” หมายถึง การอยู่ในประเทศเกิน 30 วัน และไม่ใช่เพื่อท่องเที่ยวหรือทำงาน โดยท้ายที่สุดผู้ที่เข้ามาพำนักก็จะต้องกลับไปยังประเทศบ้านเกิด1 ประเทศไทยเป็นสถานที่ดึงดูดผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติซึ่งต้องการใช้เวลาช่วงพักผ่อนระยะยาวมานานแล้ว โดยรัฐบาลได้ออกวีซ่าเกษียณอายุเกือบ 8 หมื่นใบ ใน พ.ศ. 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จาก พ.ศ. 2557 ผลวิจัยของธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าใน พ.ศ. 2559 มีชาวต่างชาติอายุมากกว่า 50 ปีที่ถือวีซ่าพำนักระยะยาวจำนวน 68,300 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา2 เหตุผลที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่นิยม ก็เพราะที่อยู่อาศัยมีราคาย่อมเยาว์ อัตราค่าครองชีพต่ำ และเป็นเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพที่มีมาตรฐานระดับโลก

เราอาจจะสังเกตเห็นปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเชื่อมโยงระหว่างการเดินทางเข้ามายังประเทศไทยกับการดูแลผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติ เนื่องจากคนกลุ่มนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประสบกับปัญหาสุขภาพในวัยชรา จนจำเป็นต้องขอใช้บริการการดูแลทางการแพทย์ในประเทศไทย เหตุนี้เองรัฐจึงได้จัดโครงการดูแลสุขภาพระยะยาวขึ้นในปี พ.ศ. 2541 เพื่อดึงดูดผู้เกษียณอายุที่มีรายได้ให้ใช้เวลาอยู่ในประเทศมากขึ้น3

นอกจากนั้น แนวคิดเรื่อง “ศูนย์กลางการแพทย์” (Medical hub) ยังเป็นส่วนสำคัญของแผนพัฒนาแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ของรัฐบาล เพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจให้ผันตนเองจากประเทศที่มีสถานะรายได้ปานกลางไปสู่สถานะรายได้สูง ดังจะเห็นได้จากการอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่าเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพำนักเป็นระยะเวลานาน หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์4 ไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุชาวตะวันตกเท่านั้น นโยบายของประเทศไทยยังส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาวในกลุ่มผู้เกษียณอายุชาวญี่ปุ่นอีกด้วย5

กระนั้นก็ดี สิ่งหนึ่งที่หนีไม่พ้นจากการเข้ามาของชาวต่างชาติวัยเกษียณเหล่านี้ คือ ช่องว่างด้านภาษาและวัฒนธรรม ผู้สูงอายุเองก็มีข้อจำกัดในการมีส่วนร่วมในสังคมท้องถิ่น เพราะไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ หรือคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้6 เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาษาอังกฤษซึ่งถือเป็นภาษาสากล (lingua franca) มีความสำคัญอย่างมากในการสื่อสารระหว่างผู้บริบาลกับผู้สูงอายุที่เข้ามาใช้บริการในประเทศไทย เนื่องจากผู้สูงอายุที่เกษียณชาวต่างชาติล้วนมาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก หรือเป็นภาษาที่สอง

ด้วยเหตุนี้เอง หากพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่การแพทย์อื่น ๆ ที่เป็นแนวหน้าของการรักษาสามารถสื่อสารด้วยภาษาของผู้มารับบริการได้เป็นอย่างดี (เช่น ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ตามจำนวนประชาการสูงวัยที่เดินทางเข้ามายังไทย) คนกลุ่มนี้จะสามารถแบ่งเบาภาระหรือช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้เบื้องต้น เพราะในบางกรณีการขาดความเข้าใจทางภาษาจะนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยไม่ต้องการเปิดเผยความรู้สึกของตนเอง

หากเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ของไทยมีความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อสื่อสารความรู้ด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงวัยต่างชาติ ก็จะถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้ระบบสาธารสุขไทยยิ่งขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้สิ่งที่จำเป็นต้องตระหนักคือ การเสริมสมรรถภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม (เช่น นักแปล/ล่ามเฉพาะทาง ผู้ให้บริการด้านการแพทย์ประเภทอื่น) ผ่านการฝึกอบรมที่จำเป็นด้านภาษาเกี่ยวกับสาธารณสุข เพื่อทำให้ความสามารถในการสื่อสารเพื่อการดูแลผู้สูงวัยชาวต่างชาติที่มาพำนักในไทยได้เข้าถึงระบบสุขภาพที่ดีตามนโยบายของรัฐ ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความสามารถทางภาษาและวัฒนธรรม เขาเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงวัยชาวต่างชาติเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ได้ง่ายและเป็นประโยชน์ในที่สุดนั่นเอง

โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่เมื่อ 9 กันยายน 2566

รายการอ้างอิง

  1. Hongsranagon, P. (2006). Information provision–One more necessity for long stay tourism of Japanese pensioners in Chiangmai. Journal of Population and Social Studies, 14(2), 101-110.
  2. Styllis, G. (2020, March 5). Thailand’s foreign retirees see their good life slip away. https://asia.nikkei.com/Economy/Thailand-s-foreign-retirees-see-their-good-life-slip-away
  3. Toyota, M., & Xiang, B. (2012). The emerging transnational “retirement industry” in Southeast Asia. International Journal of Sociology and Social Policy, 32(11/12), 708-719.
  4. Sunanta, S., & Jaisuekun, K. (2022). Care as a right and care as commodity: Positioning international retirement migration in Thailand’s old age care regime. In C. Schweppe (Ed.), Retirement Migration to the Global South (pp. 209-227). Palgrave Macmillan, Singapore.
  5. Miyashita, Y., Akaleephan, C., Asgari-Jirhandeh, N., & Sungyuth, C. (2017). Cross-border movement of older patients: a descriptive study on health service use of Japanese retirees in Thailand. Globalization and Health, 13(1), 1-11.
  6. Yoshida, E. (2015). International retirement migration in Thailand: From the perspective of welfare and social participation. http://www.kuasu.cpier.kyoto-u.ac.jp/wp-content/uploads/2015/10/International-Retirement-Migration-in-Thailand.pdf
Scroll to Top