ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้การพบปะระหว่างคนในครอบครัวในระยะใกล้เป็นไปได้ยาก ครั้นจำเป็นต้องกักบริเวณเมื่อผู้ที่ตรวจพบเชื้อ ก็ยิ่งทำให้การพบกันทางกายภาพเป็นไปไม่ได้ หนทางเดียวที่จะนำพาผู้คนให้รักษาสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ คือเทคโนโลยีการสื่อสารที่จะช่วยให้การพูดคุยและการพบหน้าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่บางครั้ง เทคโนโลยีที่ซับซ้อนหรือแม้แต่การไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ก็ยังคงเป็นปัญหาโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมักไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับคนกลุ่มอายุอื่น บางรายอาจไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ หรือแม้แต่เครื่องมือสื่อสาร กระนั้นก็ดีแม้ว่าผู้สูงอายุจะหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเชื่อมต่อ หรือสื่อสารกับเพื่อนและครอบครัวผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
งานวิจัยในออสเตรเลีย ได้ศึกษาวิธีการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวในช่วงการเว้นระยะห่างทางสังคมผ่านแบบสอบถามออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (ร้อยละ 93) มักติดต่อสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่อื่นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในช่วงการระบาดเป็นวงกว้าง แต่ร้อยละ 37 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเห็นว่าการเชื่อมต่อระหว่างกันเป็นไปได้ยาก ผู้สูงอายุมีปัญหาในการติดต่อกันมากกว่ากลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีเพียงร้อยละ 23 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี บอกว่าพวกตนติดต่อกับคนอื่น ๆ ในครอบครัวทุกวัน แต่เป็นจำนวนที่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปี นอกจากนั้น เมื่อถามว่า ได้ติดต่อกับบุคคลที่รักน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์หรือไม่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ตอบว่าใช่ คิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี กลับมีเพียงร้อยละ 41 ทั้งนี้ บริบทของออสเตรเลียต่างจากประเทศไทย เนื่องจากผู้สูงอายุมักแยกตัวอยู่ตามลำพัง มิได้อยู่แบบครอบครัวใหญ่เหมือนเช่นคนไทย จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดจึงจำเป็นต้องมีการติดต่อระหว่างกันโดยใช้เครื่องมือออนไลน์ทันสมัย
งานวิจัยในสหราชอาณาจักรชิ้นหนึ่ง โดยวิลสัน-แนช และทินสัน ได้ทำการทดลองตรวจสอบอารมณ์ของผู้สูงอายุในยามที่ต้องใช้เทคโนโลยี ตลอดจนวิธีที่ผู้สูงวัยรับมือกับอารมณ์ของตนเองและความแปลกใหม่ของเทคโนโลยี โดยมากแล้วเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถบรรเทาแรงกดดันต่อสุขภาพและการดูแลสังคมของคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ แต่ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้สูงอายนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด2
ผลการวิจัย ยังพบว่า แม้ว่าผู้สูงอายุหลายคนมองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งที่ท้าทายและจะต้องเอาชนะให้จงได้ แต่ละคนก็มีวิธีเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างกันออกไป บางคนอาจมองว่า เป็นความท้าทายส่วนบุคคล โดยสามารถใช้คู่มือที่พ่วงมากับเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือคำอธิบายออนไลน์ หรือกระทั่งแค่ลองผิดลองถูกเองได้ เช่น อัพเดตซอฟต์แวร์ การป้องกันไวรัสในเครื่องมือออนไลน์ หรืออีเมลขยะ กระนั้นก็ดี ผู้สูงอายุบางคนกลับมองว่าความซับซ้อนของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้อื่น เช่น การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือครอบครัว วิธีการขอความช่วยเหลือนี้ ยังช่วยส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ คนหนุ่มสาวจำนวนมากอาจทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือด้านไอทีแก่เพื่อนหรือญาติที่มีอายุมากกว่า หรือผู้สูงวัยในครอบครัวตนเอง
นอกจากนี้ ความหงุดหงิดรำคาญใจอาจเกิดขึ้นได้เมื่อผู้สูงวัยต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่บางคนก็แสดงให้เห็นว่า สามารถเอาชนะอารมณ์ดังกล่าวได้ โดยหัดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างสม่ำเสมอ การวิจัยยังอีกพบว่า หากเรา “ตั้งชื่อ” ให้กับอุปกรณ์ เช่น แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือ ก็จะทำให้เรามีความผูกพันกับเครื่องมือสื่อสารเหล่านั้น และยังเป็นการทำให้ผู้สูงวัยคุ้นเคยกับเทคโนโลยีได้อีกทางหนึ่งด้วย เมื่อคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นแล้ว ความคุ้นเคยจะสามารถช่วยนำพาไปสู่การใช้งานอย่างถูกต้องและเกิดความสนุกในการใช้งานต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทายไปพร้อมกัน ก็อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกในเชิงลบในกลุ่มผู้สูงอายุได้ นักวิจัยจึงได้พยายามหากลยุทธ์ในการเผชิญปัญหาด้านเทคโนโลยี เพื่อจัดการกับความรู้สึกด้านลบ โดย นักวิจัยทั้งสองได้เสนอกลยุทธ์การเผชิญหน้ากับปัญหา 2 แบบ ได้แก่ การปรับตัวกับการยอมรับ ผู้สูงอายุอาจปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับวิถีชีวิตตนเอง หรือไม่ก็เปลี่ยนมุมมองของตนเองเสียใหม่ เพื่อพยายามเข้าใจความเปลี่ยนไปของโลกมากขึ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีในช่วงโควิด-19 คือ กลุ่มผู้สูงอายุในฝรั่งเศส โดยเป็นความช่วยเหลือกึ่งพึ่งพากับกลุ่มนักศึกษาวัยรุ่นซึ่งต้องการขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุเช่นกัน โครงการแลกเปลี่ยนต่างวัยนี้ชื่อว่า ShareAmi หรือ “แชร์เพื่อน” มีนักศึกษาร่วมโคงการกว่า 107 คนทั่วโลก โดยโครงการจะจับคู่กับชาวฝรั่งเศสสูงอายุให้ได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องต่าง ๆ โดยไม่จำกัดผ่านโปรแกรมออนไลน์ จุดมุ่งหมายของโครงการนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุจำนวนมากที่ต้องแยกตัวออกจากสังคมในระหว่างการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดของฝรั่งเศส โดยการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมต่อกับผู้เรียนภาษาฝรั่งเศสที่ไม่สามารถเดินทางไปศึกษาได้ตัวตนเอง ณ ประเทศปลายทาง ให้ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะของตนเองด้วยอีกทางหนึ่ง การติดต่อผ่านสื่อออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์นี้ ได้ช่วยให้ทักษะทางภาษาของเขาคล่องแคล่วขึ้น และยังช่วยคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุที่เริ่มปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีได้ด้วย3
โครงการนี้ทดลองใช้ครั้งแรกกับนักศึกษาภาษาฝรั่งเศส จำนวน 5 คน จากมหาวิทยาลัยวอริก ประเทศสหราชอาณาจักร จนขณะนี้ได้ขยายไปสู่นักเรียนทั่วโลก โดยมีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 6,800 คนแล้วในปัจจุบัน นับว่าโครงการที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ สามารถขยายความช่วยเหลือทั้งตัวนักเรียนเอง และสนับสนุนให้ผู้สูงวัยปรับตัวใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้เหงาและเชื่อมต่อกับผู้คนต่างวัย หรือคนในครอบครัวได้อย่างดีเยี่ยม
อีกหนึ่งงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับผู้สูงวัยในช่วงล็อกดาวน์ คือ การเรียนรู้เทคโนโลยีของผู้สูงอายุในศูนย์การเรียนรู้ในไต้หวันภายใต้ผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั้งนี้คณะวิจัยนำโดย ลี เจีย จุง และคณะ พบว่า ศูนย์การเรียนรู้ระดับสูงหลายแห่งปิดตัวลงในช่วงการแพร่ระบาด และหลายแห่งใช้รูปแบบการศึกษาออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ เช่น แรงจูงใจลดลง การไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนวัยเดียวกันหรือต่างวัย เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้วิธีการวาดอักษรพู่กันจีนแบบการทำภาพเสมือนจริง (Augmented Reality – AR) และแนวทาง E-book เพื่อทำการทดลองกับผู้สูงอายุในหลักสูตรวาดอักษรพู่กันจีนที่ศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุ4
ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุมีแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้นจากการใช้ระบบวาดอักษรพู่กันจีนแบบ AR ผ่านโปรแกรมออนไลน์ โดยไม่ต้องมาพบกับผู้สอนวาดอักษรตัวต่อตัว นอกจากนั้น ประสิทธิภาพการเรียนรู้และการยอมรับเทคโนโลยีของผู้สูงอายุในกลุ่มการเรียนรู้ผ่าน E-book ยังสูงเพิ่มตามกันอีกด้วย ในการเผชิญกับการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการระงับชั้นเรียนในศูนย์ผู้สูงอายุ การศึกษาผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีได้กระตุ้นการเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ของผู้สูงวัยได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงมือทำกิจกรรมผ่านโปรแกรมออนไลน์ อย่างการวาดพู่กันจีนหรือการอ่านหนังสือแบบ E-book ก็ตาม คณะผู้วิจัยงานชิ้นดังกล่าวสรุปว่า วิธีการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเภทนี้ สามารถเบาบรรเทาความเครียด ส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยรวมในช่วงการวิกฤติดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการมอบประสบการณ์การเรียนรู้เทคนิควาดอักษรพู่กันจีนแบบออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อความจำเป็นในการแยกห่างจากครอบครัวสูงขึ้น นอกจากหนทางช่วยเหลือมิให้ผู้สูงอายุต้องโดดเดี่ยวโดยองค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ แล้ว หน่วยย่อยที่สุดคือครอบครัวในการสอนผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยี ถือเป็นการเริ่มจากจุดเล็กที่สุด หน่วยงานที่ชื่อ สถาบันวิจัยครอบครัวของออสเตรเลีย จึงได้แนะนำเคล็ดลับในการติดต่อกับผู้สูงวัยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่างน่าสนใจ5 ดังนี้
– ตั้งเวลาในการโทรศัพท์หรือวิดีโอคอลประจำวัน เพื่อติดต่อพูดคุยกับผู้สูงอายุเป็นประจำ เช่น ระหว่างที่ผู้สูงอายุรับประทานอาหาร หรือเดินออกกำลัง
– หาศูนย์บริการหรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้บริการด้านเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใกล้บ้าน เพื่อฝึกปรือผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ
– เมื่อสมาชิกในครอบครัวทุกวันเชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ควรหากิจกรรมทำร่วมกันทางออนไลน์ เช่น อ่านหนังสือด้วยกัน ออกกำลังกายด้วยกัน หรือเล่นเกมออนไลน์พร้อมกัน ผ่านหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
– คนในครอบครัวอาจกลับไปใช้วิธีพื้นฐานในการติดต่อสื่อสาร เช่น การเขียนจดหมายหรือส่งการ์ดอวยพรหากัน
– หากอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับผู้สูงอายุอาจแวะไปเยี่ยมเยียนโดยการนำของไปฝากไว้หน้าบ้าน หรืออาสาไปซื้อของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ผู้สูงอายุขอให้ช่วย กิจกรรมเหล่านี้ก็จะเป็นกุศโลบายให้ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งด้วย
ผลการวิจัยทั้งในทวีปออสเตรเลีย ยุโรป และเอเชีย ข้างต้นล้วนชี้ให้เห็นถึง การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในการติดต่อสื่อสารกับผู้สูงอายุในช่วงการล็อกดาวน์หรือเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกต่างวัยในครอบครัว ช่วยให้ผู้สูงวัยคลายเหงา ช่วยให้ผู้สูงวัยเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง และที่สำคัญ คือ การคิดค้นวิธีการที่จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุเกิดความกล้าและก้าวข้ามความรู้สึกกลัวในการใช้เทคโนโลยี เพื่อท้ายสุดแล้ว เทคโนโลยีจะได้ไม่เป็นสิ่งที่น่ากลัว หรือยุ่งยากซับซ้อน แต่เป็นเครื่องมือช่วยให้มนุษย์ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกันได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของความสูงอายุ ดังกรณีของ ShareAmi ในฝรั่งเศส หรือการเขียนพู่กันจีนในไต้หวัน ได้แสดงให้เราเห็น
โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่ วันที่ 6 พฤษภาคม 2565
รายการอ้างอิง
1 Australia Institute of Family Studies. (2020). Families in Australia survey: Life during Covid-19. Report no. 2: Staying connected when we’re apart. http://www3.aifs.gov.au/institute/media/docs/x8YeUlkf/Covid-19-Survey-Report-2_Staying-connected.pdf?_ga=2.43456544.463479527.1652517731-1261333472.1652517731
2 Wilson-Nash, C., & Tinson, J. (2022). ‘I am the master of my fate’: Digital technology paradoxes and the coping strategies of older consumers. Journal of Marketing Management, 38(3-4), 248-278. https://doi.org/10.1080/0267257X.2021.1945662
3 Murray, J. (2021). French senior citizens link up with language students in lockdown. The Guardian. https://www.theguardian.com/world/2021/mar/07/french-senior-citizens-link-up-with-language-students-in-lockdown
4 Lee, C. J., & Hsu, Y. (2021). Promoting the Quality of Life of Elderly during the COVID-19 Pandemic. International Journal of Environmental Research and Public Health, 18(13), 6813. https://doi.org/10.3390/ijerph18136813
5 Australian Institute of Family Studies. (2020). Older people struggling to stay connected during COVID-19. https://aifs.gov.au/media-releases/older-people-struggling-stay-connected-during-covid-19