แนวคิดเรื่อง ‘New Grey’ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของแบรนด์รองเท้ากีฬายี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่งในประเทศเกาหลี ภายใต้แคมเปญ “The New Grey Seoul” ในปี 2562 ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนสไตล์การแต่งกาย ทรงผมผู้สูงวัยให้ดูสดใส โฉบเฉี่ยว และไม่แก่ไปตามวัย โดยได้ใช้ช่องทางทั้งเฟซบุ๊ค อินตรแกรม และ TikTok สร้างกระแสจนเป็นไวรัล ทำให้ปัจจุบันกลุ่มอาจอชชี่ (Ahjussi – 아저씨) หรือเหล่าคุณลุง คุณปู่ 8 คนที่มีอายุเฉลี่ย 62 ปี เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ถึงกับมีการตั้งฉายาให้เป็น “Senior BTS” เทียบกับนักร้องบอยแบนด์ BTS ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของเกาหลีกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ ความสำเร็จของแคมเปญสื่อสารการตลาดและชื่อเสียงของกลุ่มอาจอชชี่หลัก ๆ เกิดจากใช้ TikTok ในการโพสต์วิดีโอของเหล่าสมาชิกอาจอชชี่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะในปัจจุบัน TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึงคนทุกช่วงวัยได้เป็นอย่างดี เป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแบ่งปันและสื่อสารระหว่างวัย แชร์ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างกว้างขวาง โดยหลังจากที่กลุ่มอาจอชชี่ได้โพสต์วิดีโอบน TikTok ที่เน้นไปที่เรื่องแฟชั่นการแต่งกายในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ปัจจุบันพวกเขาได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลออนไลน์ (Online influencer) เนื่องจากวิดีโอที่พวกเขาโพสต์มีมีเข้าชมเกือบ 10 ล้านครั้ง1
สำหรับในประเทศไทย จากการเผยแพร่ข้อมูลจาก ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok ระบุว่า ในช่วงต้นปี 2566 มีผู้ใช้งาน TikTok มากถึง 40.28 ล้านคนในประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึงร้อยละ 12.5 โดยจำนวนผู้ใช้ที่เป็นเพศหญิงมีมากกว่าเพศชาย (60:40)2 ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้งานดังกล่าวมีความสอดคล้องกับความนิยมของ TikTok ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ทรงพลังในการสร้างอิทธิพลต่อคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมองต่อชีวิต ที่เริ่มจากเรื่องบุคลิกภายนอก เช่น การแต่งกาย การดูแลร่างกาย ที่นำไปสู่วิธีคิดมุมมองใหม่ต่อ “ความสูงวัย” ที่ทำให้ผู้สูงวัยมองเห็นคุณค่าและความหมายของการใช้ชีวิตในบั้นปลาย ภายใต้แนวคิด New Grey ที่ขยายตัวออกจากแฟชั่น มาเป็นการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย
New Grey จึงเป็นปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับความสูงวัยที่มาปะทะกับชุดความคิดที่มองผู้สูงวัยในลักษณะที่ต้องพึ่งพิง ล้าหลัง ขาดความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง และมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งพบได้ในวาทกรรมสาธารณะไม่ว่าเป็นจากสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ โดยแนวคิดและการสื่อสารในลักษณะนี้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุขาดพลังและลดทอนกำลังใจในการค้นหาทางออกเพื่อก้าวข้ามความท้าทายที่มาจากความสูงอายุ เพราะชุดความคิดดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุมองไม่เห็นความหมายและคุณค่าของชีวิตที่เหลืออยู่
จากการศึกษาของ Anniek Dortmans, Thessa W. Th¨olking และ Els J. van Wijngaarden (2022) ได้อธิบายถึงแนวคิดทางวัฒนธรรมหลักที่เกี่ยวกับ “ความสูงอายุ” ที่มีอยู่ในสังคมตะวันตก 2 แนวคิด ได้แก่ 1) แนวคิดที่ว่าความสูงอายุเป็นความเสื่อมและความทุกข์ทรมานที่เป็นผลมาจากความเสื่อม เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยแนวคิดนี้จำกัดทางเลือกและไม่สนใจกับประสบการณ์ทางบวกของผู้สูงอายุ มองความสูงอายุเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และ 2) แนวคิดที่ว่าความสูงอายุเป็นความสำเร็จหรือ active aging ซึ่งเป็นแนวคิดที่เน้นให้ผู้สูงอายุพยายามป้องกันและต้านทานกับความเสื่อมทางกาย จิตใจ และสังคมของตน โดยภายใต้กระบวนทัศน์นี้ ผู้สูงวัยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาสุขภาพและขาดกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต จะถูกมองว่าเป็นผู้ที่ล้มเหลวในการใช้ชีวิตสูงวัย อย่างไรก็ตาม จากสัมภาษณ์นักบวชชาวดัชที่มีอายุเฉลี่ย 80.6 ปี จำนวน 12 คน ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นที่ส่งผลต่อการให้ความหมายชีวิตในวัยสูงอายุ ได้แก่ ความเป็นพี่น้อง (brotherhood) ซึ่งสร้างความรู้สึกผูกพันและเชื่อมโยงกัน การตระหนักถึงขอบเขต (finitude) ในการเผชิญกับบุคคลและความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน และพลวัตร (dynamic) โอกาสใหม่ ๆ การเติบโตภายใน และความสามารถในการเปิดรับสิ่งดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิตในแต่ละวัน ที่สำคัญ งานวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความสูงอายุเป็นกระบวนการหลากมิติ (multidimensional process) ไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องของความเสื่อมและความสูญเสียเท่านั้น แต่ความสูงอายุยังเป็นโอกาสในการเปิดประสบการณ์ให้มองเห็นความหมายของชีวิตในมิติใหม่ ๆ อีกด้วย3
สำหรับในสังคมสูงอายุไทย อาจกล่าวว่าได้มีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากบทบาทและการสื่อสารกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้สูงอายุทาง TikTok และสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของเนื้อหาและรูปแบบ อาจกล่าวได้ว่า เราได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากที่เปรียบผู้สูงอายุเป็นของ “ลายคราม” มีคุณค่าที่ต้องเก็บขึ้นหิ้ง มาเป็น “พฤฒพลัง” ที่สามารถนำเอาประสบการณ์เดิมมาเพิ่มเติประสบการณ์ใหม่มาเป็นพลังช่วยสร้างสังคมปัจจุบันและอนาคตที่เข้มแข็ง เมื่อสังคมเปลี่ยนมุมมองต่อความสูงอายุแล้ว ที่สำคัญ ตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องปรับมุมมองต่อตนเองให้เป็น New Grey ด้วย เพราะไม่มีใครจะเปิดโอกาสในการสร้างความหมายและประสบการณ์ใหม่ในชีวิตหลังเกษียณให้เราได้มากเท่ากับตัวของเราเอง
ภาพ :
https://spacebar.th/lifestyle/The-new-grey-club-fashion-old-style
https://www.khaosod.co.th/lifestyle/beauty/news_4675766
โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่ วันที่ 30 มิถุนายน 2566
รายการอ้างอิง
- Travelling South Korea. (2023 February 3). Ahjussis ‘The New Grey’ Take TikTok by Storm. https://travellingsouthkorea.com/ahjussis-take-tiktok-by-storm/
- Eric P. (11 เมษายน 2566). สถิติ + เทรนด์ Influencer Marketing บน TikTok ปี 2023. https://www.motiveinfluence.com/blog/marketing/
- Dortmans, A., Th¨olking, T. W., & van Wijngaarden, E. J. (2022). Turning grey is not a black-and-white experience: A phenomenological study on the lived experience of old age among Dutch Franciscan friars. Journal of Aging Studies, 61 (2022) 101004. https://doi.org/10.1016/j.jaging.2022.101004