เคยสังเกตหรือไม่ว่า เหตุใดกลโกงหรือนักต้มตุ๋นจึงพยายามหลอกลวงผู้สูงวัยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นั่นอาจเป็นเพราะคนกลุ่มนี้มองว่า ผู้สูงวัยมีสินทรัพย์ในธนาคารเป็นจำนวนมาก แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัยที่มีฐานะหรือมีเงินไม่มากนัก ก็สามารถตกเป็นเหยื่อนักหลอกลวงพวกนี้ได้ไม่ต่างกัน
ผู้สูงอายุหลายคนใช้เวลาหลายปีในการเก็บเงินออมทรัพย์เพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน แต่ก็อาจทำให้ตนเองตกเป็นเป้าหมายของการฉ้อโกงเพื่อการลงทุน เช่น แชร์ลูกโซ่ ในการหลอกลวงประเภทนี้ คนร้ายมักจะรวบรวมเงินจากนักลงทุนหน้าใหม่ไปจ่ายคืนเป็นผลกำไรแก่นักลงทุนรายแรก ๆ คนกลุ่มแรกจะมองว่าการลงทุนนั้นได้กำไร และพลอยชักจูงคนอื่น ๆ ที่มีกำลังทรัพย์มาลงทุนตาม
เหตุที่นักต้มตุ๋นหลอกลวงพุ่งเป้าไปยังเหยื่อที่เป็นผู้สูงวัย อาจมีด้วยกันหลายประการ เช่น
- ผู้สูงวัยมักไวใจผู้อื่นโดยง่าย โดยเฉพาะคนที่อ้างว่าจะเข้ามาดูแลชีวิตผู้สูงวัย
- ผู้สูงวัยมักมีเงินออมจำนวนมาก หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่สะสมไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว
- ผู้สูงวัยมักขาดความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและหลอกลวงทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์ หรือบนโซเชียลมีเดีย
- ผู้สูงวัยบางคนเริ่มมีความเสื่อมด้านความจำหรือทางร่างกาย ทำให้วิจารณาญาณอาจช้าลง และไม่ทันฉุกคิดถึงภัยจากนักหลอกหลวง
- เมื่อตกเป็นเหยื่อแล้ว ผู้สูงวัยหลายรายอาจไม่กล้าบอกสังคม ด้วยกลัวถูกมองว่าไร้ความสามารถหรือประนามจากสังคม จึงทำให้ผู้ร้ายชะล่าใจและตั้งเป้าผู้สูงวัยอยู่ตลอด1
ทั้งนี้ ในต่างประเทศก็มีกลโกงหลายประเภทไม่แพ้ประเทศไทย ซึ่งวิธีการที่มิจฉาชีพจะใช้ในการหลอกลวงผู้สูงวัยมีด้วยกัน เช่น
แอบอ้างเป็นรัฐบาล – มิจฉาชีพจะโทรหาผู้สูงวัยโดยแสงว่ามีการค้างชำระค่าใช้จ่ายหากหลายแบบ โดยขู่ว่าจะจับกุมหรือส่งหมายศาล มิจฉาชีพมักบังคับให้ผู้สูงวัยทำการชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ ตามเหตุผลที่ยกขึ้นมากล่าวอ้าง อาจเป็นการโอนเงินโดยตรง หรือเติมเงินสดในบัตรต่าง ๆ โดยมักปลอมแปลงหมายเลขของหน่วยงานภาครัฐเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เป็นต้น
การชิงโชคหรือล็อตตารี – กลโกงการชิงโชคเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นเคย มิจฉาชีพจะโทรหาผู้สูงวัยเพื่อบอกว่าตนเองถูกล็อตตารีหรือรางวัลจากการชิงโชคบางอย่าง หากต้องการเงินรางวัล ผู้สูงวัยจะต้องโอนเงินสดล่วงหน้า และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มิจฉาชีพก็มักแสร้งอ้างชื่อว่ามาจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของกองสลาก หลายคนยังคงโทรหาเหยื่อเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีหลังจากฉ้อโกงพวกเขาด้วยเงินก้อนแรก
การโทรจากระบบตอบรับอัตโนมัติ – พวกมิจฉาชีพใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโทรศัพท์อัตโนมัติเพื่อโทรหาผู้คนที่อยู่บ้านมากมาย ซึ่งผู้สูงวัยก็เป็นคนในกลุ่มนี้ การรับสายจากระบบตอบรับอัตโนมัติอาจอ้างว่า ประกันรถยนต์หรือประกันประเภทอื่น ๆ ของเหยื่อกำลังจะหมดอายุลง และจำเป็นต้องชำระเงินเพื่อต่ออายุ มิจฉาชีพมักจะปลอมแปลงหมายเลข เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นการโทรจากองค์กรที่มีชื่อเสียง2
โดยเฉพาะกลโกงด้านการลงทุน ซึ่งเป็นการชักจูงจิตใจสำคัญที่ผู้สูงวัยอาจหลงกล ผู้สูงวัยจึงควรตระหนักถึงลักษณะที่ต้องสงสัยเหล่านี้3
- การลงทุนที่มิจฉาชีพนำเสนอ ได้รับผลตอบแทนสูงโดยมีความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ใรกสนรับประกันผลตอบแทนการลงทุนสูงเป็นจุดเด่น แต่ในความเป็นจริง ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงมักมาพร้อมกับความเสี่ยงสูง
- ผู้ขายหุ้นการลงทุนต่าง ๆ จำเป็นต้องจดทะเบียน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล แต่กลโกงชวนลงทุนนี้มักไม่มีการขออนุญาตจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่มักมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน สร้างความน่าเชื่อถือ หลายครั้งมีเว็บไวต์ให้ตรวจสอบได้ จึงจำเป็นต้องระวังในการเข้าตรวจสอบหลักฐานด้านความน่าเชื่อถือให้ถี่ถ้วน
- มีการโฆษณาว่า ผู้สูงวัยจะได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมากเกินไป มูลค่าการลงทุนมักจะผันผวนตลอดเวลา
เราจะสังเกตได้ว่ากลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ มันใช้การสื่อสาร ทั้งสื่อบุคคล หรือสื่อออนไลน์ ในการสร้างความน่าเชื่อถือและหว่านล้อมผู้สูงวัย ประโยชน์จากเทคโนโลยีจึงไม่ได้มากับความปลอดภัยเสมอไป ผู้สูงวัยหรือลูกหลานจึงควรเฝ้าสังเกตและดูแลการใช้สื่อของผู้สูงวัยเอง เพื่อตั้งสติก่อนการตัดสินใจที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อพวกกลกวงเหล่านี้
โดย กองบรรณาธิการ
เผยแพร่เมื่อ วันที่ 21 มีนาคม 2566
รายการอ้างอิง
- MacKay, J. (2023). Citizen scams: What you need to know. Aura. https://www.aura.com/learn/senior-citizen-scams
- Waterman, G. (2022). The top 5 financial scams targeting older adults. National Council on Aging. https://ncoa.org/article/top-5-financial-scams-targeting-older-adults
- US Security and Exchange Commission. (2018). Investor alert: Ponzi schemes targeting seniors. https://www.sec.gov/oiea/investor-alerts-and-bulletins/ia_ponziseniors