ผลสำรวจประสบการณ์การถูกหลอกลวงผ่านสื่อของผู้สูงอายุไทยใน 2 ปีที่ผ่านมาของทีมวิจัยจากศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการตกเป็น “เหยื่อ” จากการเปิดรับข้อมูลที่บิดเบือนและข่าวลวงประเภทต่าง ๆ ของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2565 มีผู้สูงอายุไทยที่ตระหนักรู้ตัวว่าตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงผ่านสื่อมากถึง 22% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีเพียง 16% จากผู้ตอบแบบสำรวจอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 2000 คนทั่วประเทศ โดยผู้สูงอายุที่รู้ว่าตนเองตกเป็นเหยื่อนั้นมีการเปิดรับสื่อมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่รู้ว่าตัวไม่ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มีอายุอยู่ระหว่าง 60-69 ปี มีการศึกษาไม่มากนัก และมีฐานะการเงินปานกลาง ส่วนสื่อที่ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อมากที่สุด คือ สื่อบุคคล และสื่อออนไลน์1
สำหรับเรื่องที่ผู้สูงอายุไทยถูกหลอกมากที่สุด คือ ถูกหลอกให้ซื้อของที่ไม่ได้คุณภาพ 46.14% ถูกหลอกให้ทำบุญ ช่วยเหลือคน ช่วยเหลือสัตว์ 43.06% ถูกหลอกให้ซื้อยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ 30.23% และถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 13.86% โดยเป็นที่น่าสังเกตก็คือ จำนวนผู้สูงอายุที่ถูกหลอกให้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 กว่า 10%1
เมื่อลองนำสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกหลอก (22%) มาคำนวณกับจำนวนประชากรสูงอายุไทยในขณะนี้ 12.1 ล้านคน2 จะทำให้มองเห็นภาพว่า อาจมีผู้สูงอายุมากถึง 2.6 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นเหยื่อของการหลอกลวงผ่านสื่อ แนวโน้มดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงมาก หากพิจารณาจากการที่มิจฉาชีพใช้สื่อต่าง ๆ เป็นช่องทางทำมาหากินอย่างขยันขันแข็ง ดังนั้น ในขณะที่การป้องปรามและปราบปรามไม่สามารถทำได้ทันกับกลโกงของมิจฉาชีพ ผู้สูงอายุคงต้องหาทางป้องกันตนเองด้วยการฝึกทักษะการเปิดรับข้อมูลข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน
หนึ่งในวิธีการฝึกตนเองให้รู้ทันข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่สามารถทำได้ง่าย ทำได้ทุกที่ และทุกเวลาที่ต้องการ ก็คือ การเล่นเกม STAAS (สต๊าซ) บ่อย ๆ ผ่านสมาร์ทโฟน โดยเกมออนไลน์ STAAS: Stop -Think – Ask – Act – Share มีฐานคิดมาจากคาถารู้ทันสื่อ “หยุด คิด ถาม ทำ” ที่ทีมวิจัยของศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุได้พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเพิ่มทักษะการรู้ทันสื่อในการรับมือกับข่าวลวง และการหลอกลวงของมิจฉาชีพรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้สูงอายุ3
ลักษณะของเกมแบ่งเป็น 2 ชุด โดยชุดที่ 1 เป็นการจำลองเหตุการณ์และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรับสื่อในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ที่นำเสนอผ่านชีวิตของ “ลุงชุบ” จำนวน 4 เหตุการณ์ คือ ข่าวน้ำมะนาวเกลือดำรักษามะเร็ง ข้อความจากครูหนุ่ม ลูกสาวเข้าโรงพยาบาล และ ตำรวจตรวจเงิน และชุดที่ 2 นำเสนอผ่านชีวิต “น้าแมว” สาวใหญ่วัยเพิ่งเกษียณ มีสถานการณ์ที่ผู้สูงอายุมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี 6 เรื่อง ได้แก่ ไปทำงานเมืองนอก เลี้ยงเป็ดเอ็นเอฟที ตำรวจตรวจบ้าน งานบุญ คาสิโนออนไลน์ และ จิตอาสา ซึ่งเมื่อรวมกับเรื่องราวของครูชุบทำให้ผู้เล่นมีสถานการณ์จำลองให้ฝึกทักษะการรู้เท่าทันสื่ออย่างหลากหลายถึง 10 สถานการณ์ โดยผู้สูงอายุสามารถ download เกม ด้วยการพิมพ์คำว่า STAAS จาก Apple store หรือ Google play โดยเมื่อ download แล้วจะได้ icon เกมดังภาพด้านล่าง3
ข้อดีของการเล่นเกมนี้ นอกจากจะทำให้ผู้เล่นรู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อน ในการเปิดรับสื่อโดยทันทีแล้ว ยังให้ความสนุกท้าทายอีกด้วย ถือว่าได้ทั้งทักษะการรู้เท่าทันสื่อและความบันเทิงไปพร้อมกันเลยทีเดียว อีกทั้งคนในครอบครัวทุกเพศทุกวัยก็สามารถเล่นเกมนี้ได้ด้วยเช่นกัน เพราะทักษะการรู้เท่าทันสื่อเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในยุคดิทัลของทุกคน
โดย ศูนย์วิชาการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุ (ICEM)
เผยแพร่ วันที่ 14 มีนาคม 2566
รายการอ้างอิง
1 นันทิยา ดวงภุมเมศ ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ธีรพงษ์ บุญรักษา สิรินทร พิบูลภานุวัธน์ และวราภรณ์ สืบวงศ์สุวรรณ์. (2566). ประสบการณ์การถูกหลอกลวงผ่านสื่อของผู้สูงอายุไทย ปี 2565. https://www.iceml.org/20230227-research-experience2022/
2 กรมการปกครอง. (2565). สถิติประชากรรายจังหวัด. https://stat.bora.dopa.go.th/StatMIS/#/ReportStat/3
3 นันทิยา ดวงภุมเมศ ขวัญจิต ศศิวงศาโรจน์ ธีรพงษ์ บุญรักษา สิรินทร พิบูลภานุวัธน์ และวราภรณ์ สืบวงศ์สุวรรณ์. (2566). การพัฒนาศูนย์วิชาการและปฏิบัติการด้านการรู้เท่าทันสื่อของผู้สูงอายุไทย. รายงานโครงการฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.